ปั่นไปศาลายา

January 30th, 2012

เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2555 ผมได้ร่วมขี่จักรยานกับชาว a day อีกครั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนได้ดันทุรังปั่นไปบางปูแล้วต้องแยกกลับก่อน เป้าหมายของเราคราวนี้คือ “ศาลายา” ระยะทางไปกลับร่วม 100 กม.!

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อนถึงวันเสาร์นั้น ผมก็คิดอยู่ว่าถ้าเอาเจ้าดาฮอนที่สะเด็ดน้ำแล้ว ออกเดินทางไกลขนาดนั้นอีก (ตัวผม) คงจะไม่รอดแน่ๆ เลยเริ่มมองหาจักรยานอีกคัน โดยมีนอร์ธเป็นที่ปรึกษาเช่นเคย ส่วนก้องก็คอยยุไม่หยุด สุดท้ายก็ได้ Tokyobike 26 สีแดง มือสองมา แม้จะไม่ใช่รถที่เหมาะกับการปั่นทางไกลและไม่ได้เร็วอะไรมากมาย แต่เลือกเพราะถูกใจความน่ารักและสีแดง ผมมีโอกาสได้ปั่นเล่นแถวบ้านตอนเช้า 2-3 ครั้ง และปั่นไปขึ้น BTS ไปทำงาน กับปั่นกลับบ้านเพื่อทำความคุ้นเคยครั้งหนึ่งก่อนถึงวันเดินทางจริง ความประทับใจแรกคือเป็นรถที่ปั่นได้ลื่นดี แรงสะเทือนที่มือน้อยกว่า Dahon คันเดิมมาก เกียร์ grip shifter 8 สปีดเหมือนกันด้วย ติดใจอยู่อย่างเดียวคือเบาะมันแข็งไปหน่อย

พอถึงเช้าวันเสาร์ ผมก็ปั่นจากบ้านมาถึงออฟฟิศ a day ที่เอกมัย 10 เป็นระยะทางประมาณ 7.3 กม. เมื่อมาถึงมีคุณธีมารออยู่แล้ว จากนั้นสักพักชาว a day ก็ลงมา คราวนี้มีโต, เอี่ยว, หมี, ก้องกับรถ Fuji Touring คันใหม่, เบิร์ดที่จะออกปั่นครั้งแรกด้วยรถของปู เป็นกลุ่มที่เล็กกว่าทุกครั้ง คือ 7 คน แต่จะมีตามมาสมทบระหว่างทางอีกหลายคน ผมถามก้องว่าทำไมถึงออกรถคันใหม่ นึกว่าจะได้ขี่ Tokyobike สองสีเป็นเพื่อนกันไปกับคันสีฟ้าของก้อง (จริงๆ ผมชวนเพื่อนที่ขี่ Tokyobike อีกสองคน แต่มาไม่ได้) ก้องบอกว่าทริปปั่นทั่วประเทศต้องการรถที่สมบุกสมบันขึ้น แต่น้องฟ้าก็จะเก็บไว้ขี่ชิวๆ ในเมือง ทักทายกันเสร็จแล้วเราก็วิ่งออกถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาตรงยาว พุ่งตรงผ่านตลอดจนเลยมาบุญครอง แล้วไปเลี้ยวขวาเข้าถนนกรุงเกษม ระหว่างทางผมก็คิดเหมือนทุกครั้งที่ขี่จักรยานในเมืองว่า “จริงๆ กรุงเทพมันไม่ได้ใหญ่ แต่เราเสียเวลาและทรัพยากรไปให้กับการจราจรที่ล้มเหลวมากเหลือเกิน”

Read the rest of this entry »

ปั่นไปบางปู

January 17th, 2012

ผมเริ่มขี่จักรยานเพราะเอือมระอาการเสียเวลาของชีวิตไปกับการขับรถให้คลานไปบนถนน ภาระในการวนหาที่จอด และอยากหาเรื่องออกกำลังกาย บวกกับมีแรงเชียร์จากคนรู้จักรอบตัว จักรยานคันแรกและคันเดียวในตอนนี้ของผมเป็นจักรยานพับได้ ยี่ห้อ Dahon รุ่น Archer P8 ซึ่งเป็นสเปคจีนของ Speed P8 เหตุที่เลือกซื้อจักรยานพับเพราะอยากใช้จักรยานร่วมกับการเดินทางวิธีอื่น เช่น ขับรถไปจอดแล้วขี่จักรยานต่อ หรือขี่จักรยานไปใช้บริการขนส่งมวลชน จากความตั้งใจแรกเริ่มที่จะมีจักรยานไว้แค่ขี่ในเมือง ผมจึงเริ่มขี่จากบ้านไปวิ่งที่สวนตอนเช้า, ขี่จากบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน, ขี่จากที่ทำงานกลับบ้าน ความซ่า ความคึก เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเพื่อนชวนให้ปั่นระยะทางไกลขึ้น พอดีเพื่อนก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน) แห่งนิตยสาร a day กำลังมีโครงการปั่นจักรยานทั่วประเทศ ทำให้ต้องฟิตซ้อมเตรียมทีมโดยออกมาปั่นกันบ่อยๆ ผมเข้ามาแจมกับกลุ่มของ a day ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2555 ปั่นจากบ้านผมไปรวมกลุ่มบนถ.พัฒนาการ จนถึงสวนหลวงร. 9 แล้วแยกตัวออกมาปั่นไปหาหมอที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ก่อนกลับบ้าน รวมระยะทางได้ประมาณ 40 กม. ยอมรับว่าตอนต้องปั่นตามกลุ่มรู้สึกลำบาก เนื่องจากรถล้อเล็กกว่าเพื่อน แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก

ถัดมาอีกหนึ่งสัปดาห์ ในวันเสาร์ที่ 14 ม.ค. 2555 ชาว a day มีแผนจะปั่นไปบางปู รวมระยะทางไป-กลับ 80 กว่ากม. ผมนั่งอ่านเส้นทางแล้วไม่มั่นใจว่าจะทำได้ นอกจากเส้นทางไม่คุ้นเคย ทักษะยังไม่มาก แล้วรถยังไม่อำนวยอีกด้วย นอร์ธ, เพื่อนที่คอยให้คำแนะนำเรื่องจักรยานมาตลอด เสนอว่าจะให้ยืมจักรยานเสือหมอบ แต่ไม่มีเวลาจะทำความคุ้นเคยก็เลยปฏิเสธไป และอยากลองตั้งโจทย์โหดๆ กับตัวเองซักครั้ง ก้องก็บอกว่า “ทริปนี้เราปั่นกันชิวๆ ไม่ต้องกังวล” เลยพอจะใจชื้นขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ทันได้สบายใจ ก้องก็บอกว่า “นัท จาก be>our>friend จะไปด้วยนะ” เอาล่ะสิ… เท่าที่ผมมีข้อมูล นัทและปอม ไม่มีทางปั่นชิวๆ ไปกับชาว a day ได้หรอก! คืนนั้นผมส่งข้อความไปทักทายนัท ชวนให้ก้องกับนัทเปิด Find My Friends แอพที่เอาไว้หาพิกัดเพื่อน เพราะยังไม่เคยลองใช้จริงจังซักที ก่อนเข้านอนด้วยใจระทึก

เช้าวันที่ 14 ม.ค. ผมตื่นขึ้นมาทานข้าวต้มรองท้อง ก่อนปั่นออกไปรอกลุ่ม a day ที่ BTS อ่อนนุชตอน 7 โมงเช้า ระยะทางจากบ้านผมมา BTS อ่อนนุช ใกล้กว่าจากออฟฟิศ a day แถวเอกมัยมา BTS อ่อนนุชประมาณ 3 กม. ขอย่นระยะนิดนึงก็ยังดี ลองกด Find My Friends ดู พบว่าก้องกับนัทอยู่ด้วยกันแล้ว ซักพักก้องก็โทร.มาบอกว่ากำลังจะเคลื่อนขบวน ไม่กี่อึดใจผมก็เห็นกลุ่มจักรยานอยู่ในระยะสุดสายตา โบกมือทักทายกันแล้วก็รีบปั่นเข้ากลุ่มตามไป วิ่งตามเส้นสุขุมวิทมุ่งหน้าแยกบางนา ตอนติดไฟแดงผมได้ทักทายกับเพื่อนร่วมทางซึ่งส่วนใหญ่เคยเจอกันในคราวที่แล้ว ครั้งนี้มากัน 13 คัน จักรยานพับ ล้อ 20″ ของผมเป็นน้องเล็กอยู่คนเดียว โดนแซว่า “วันนี้ซอยยิกแน่” ก็แหงสิ!

Read the rest of this entry »

Fujifilm FinePix X100

May 7th, 2011

[Updated #1 – 9 พ.ค. 2554 เพิ่มเนื้อหาและภาพประกอบหลายจุด]

วันนี้อยากจะเขียนบันทึกถึงกล้องตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามเหล่านี้…

“นี่ไลก้าใช่ไหมเนี่ย?” – ฟูจิครับ

“มันซูมได้เยอะไหมน่ะ?” – ซูมไม่ได้ครับ

“มันมีฟังก์ชั่นเยอะไหม?” – ก็มีพาโนรามาครับ แต่ไม่มีโฟกัสจับหน้า, ไม่มีกันสั่น, ไม่มี art filter

“ต้องใช้เลนส์อะไรครับ?” – เลนส์ติดกล้องมาเปลี่ยนไม่ได้ครับ

“ถามจริงเหอะ เทคโนโลยีที่เขาพัฒนากันมาทั้งหมดนี่มันใช้แล้วไม่มีความสุขหรือไง?”

ก็ว่ากันไป…

เจ้ากล้องตัวที่ว่านี้คือ Fujifilm FinePix X100 ที่สร้างความฮือฮาได้ตั้งแต่ประกาศตัวเมื่อปลายปี 2010 และสร้างกระแสแรงต่อเนื่องมาตลอดจนถึงการเปิดขายเมื่อต้นปีนี้ แถมยังเจอเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่นทำให้ต้องระงับการผลิตชั่วคราว กลายเป็นของหายากไปทันที จนคนไทยหลายคนที่โชคดีได้ซื้อล็อตแรก เอาไปปั่นราคาปล่อยกันใน ebay กันเพียบ

ตอนนี้ก็มีรีวิวหลายสำนักออกมาแล้ว ถ้าใครอยากอ่านฝรั่งวิเคราะห์จากการใช้งานจริง ไม่เน้นกราฟ ไม่เพ่งพิกเซล ขอแนะนำให้ไปอ่านของ Steve Huff และ John Goldsmith ก่อนเลย ส่วนที่ผมจะเขียนนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆ

Read the rest of this entry »

พลังลบ

March 13th, 2011

เนื่องด้วยได้รับเชิญไปพูดในงาน Pecha Kucha Bangkok ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “พลังลบ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 เมื่อเสร็จงานแล้วจึงขอนำสไลด์และเนื้อหามาบันทึกไว้ที่นี่ เป็นการอ้างอิงส่วนตัว และเผื่อแผ่แก่ผู้ที่ไม่ได้ไปงานมาอ่านดูครับ

Read the rest of this entry »

BITS

November 5th, 2010

ช่วงเวลา 10 ปี เป็นเวลาที่นานพอที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างคาดไม่ถึง นับจากที่ผมเรียนจบปริญญาตรีในพ.ศ. 2543 หรือค.ศ. 2000 จนถึงปัจจุบัน คือปีพ.ศ. 2553 หรือค.ศ. 2010 ชีวิตประจำวันของผมได้เปลี่ยนไปจากที่ต้องเริ่มมีโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกเป็นของตัวเอง กลายเป็นยุคที่ทุกคนต้องใช้โทรศัพท์มือถือทำเรื่องอื่นๆ เยอะกว่าใช้คุยโทรศัพท์ จากกล้องถ่ายรูปที่ใช้ฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิทอล จากที่รถไฟฟ้า BTS เพิ่งเปิดใช้ กลายเป็นวิธีการเดินทางหลักของใครหลายคน แต่ที่ประทับใจที่สุดในตอนนี้เมื่อมองย้อนหลังกับไป คือการมีพื้นที่สำหรับความสนใจด้านงานด้านอักขรศิลป์ (typography) ในสังคมไทยที่มากขึ้น

Read the rest of this entry »

การเป็นกรรมการตัดสินงานออกแบบ

September 17th, 2010

ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา มีกิจกรรมใหม่เกิดขึ้นกับชีวิต คือ ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินงานประกวดออกแบบ, คณะกรรมการตรวจหัวข้องานศิลปนิพนธ์ และตรวจงานศิลปนิพนธ์ ทั้งหมดนี้ทำให้กลับมานั่งทบทวนแล้วได้ข้อสรุปจากความเห็นส่วนตัวที่นำมาบันทึกไว้ที่นี่

การตัดสินการประกวดงานออกแบบ

  • การประกวดไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในการหางานที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดเสมอไป แต่สำหรับผู้จัด นี่เป็นวิธีที่ลงทุนแล้วได้ผลเชิงปริมาณชัดเจนที่สุด วัดผลได้จากจำนวนผู้ส่งผลงานเข้าประกวด
  • เราไม่สามารถตัดสินผลงานได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ได้รับฟังการนำเสนอของเจ้าของงานได้
  • มีบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่ตั้งใจหากินกับการทำงานประกวดอย่างจริงจัง ส่งทุกงานเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นงานที่จบเร็ว ได้ตังค์โดยไม่ยุ่งยาก
  • มาตรฐานของการประกวดงานออกแบบ ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกคณะกรรมการ

การตรวจหัวข้องานศิลปนิพนธ์

  • โลกทุกวันนี้ จะหาหัวข้อที่ใหม่ มีประโยชน์ และน่าสนใจจริงๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ
  • การนำความสนใจส่วนตัวมาเป็นหัวข้อ ทำให้นักศึกษา “อิน” กับสิ่งที่จะทำ แต่ควรต้องหาเหตุผลมารองรับให้ครบถ้วน เพราะสุดท้าย งานออกแบบก็ไม่ใช่งานศิลปะ ต้องมีกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และผลที่คาดหวังชัดเจน ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเจ้าของโครงการ
  • กรรมการไม่ควรยัดเยียดความคาดหวังของตัวเองให้กับนักศึกษามากเกินไป จริงอยู่ที่ความตั้งใจจะผลักดันนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงความถนัด และศักยภาพของเจ้าของโครงการด้วย
  • ปัญหาคือ ถ้าคำว่า “กรรมการ” คือ เข้าไปตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ เท่านั้นแล้วจบ อะไรก็คงไม่ยาก แต่กรรมการก็อดไม่ได้ที่ทำจะหน้าที่โดยมีบทบาทของการเป็น “อาจารย์” หรือ “ที่ปรึกษา” รวมอยู่ด้วย

การตรวจงานศิลปนิพนธ์

  • หัวข้อดี, บรีฟดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
  • การเลือกหัวข้อ และสื่อที่เหมาะสมกับความสนใจ และความสามารถของเจ้าของโครงการ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพงานอย่างชัดเจน
  • หลายครั้งที่ขณะตรวจจะคิดไปถึงว่า “ถ้านักศึกษาคนนี้จบไปแล้ว จะนำทักษะ หรือความรู้ที่ได้จากงานชิ้นนี้ไปใช้ได้อย่างไรในการทำงานจริง”
  • คำว่า “ยิง” ที่นักศึกษาชอบพูดกัน ฟังดูน่ากลัวเกินไป จริงๆ น่าจะเรียกว่า “ชี้ประเด็น” เท่านั้นแหละ จะชี้แบบเอานิ้วปักแสกหน้า หรือชี้แบบสะกิด ก็แล้วแต่

หมายเหตุ จนกว่าจะหมดภาคการศึกษาต้นของปีการศึกษา 2553, โพสท์นี้น่าจะได้อัปเดทอีกเรื่อยๆ

สะพานแคบ ใจกว้าง

September 13th, 2010

เหตุเกิดเมื่อหัวค่ำวันหนึ่ง ขณะกำลังขับรถกลับบ้าน หลังจากวิ่งรถขึ้นไปคืบคลานอยู่บนสะพานแห่งหนึ่งที่วิ่งได้เพียงสองเลน ก็ได้ยินเสียงรถหวอดังมาจากทางด้านหลัง มองกระจกหลังก็เห็นไฟกระพริบสีแดง-ฟ้า มีเสียงเจ้าหน้าที่ซึ่งฟังไม่ได้ศัพท์ลอยมาพร้อมกัน แวบแรกผมก็คิดว่าจะขยับรถของตนจากเลนขวาไปชิดซ้ายเพื่อหลีกทางให้ แต่เมื่อรถหวอเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มจับใจความของเสียงตะโกนผ่านโทรโข่งได้

“ไม่ต้องเปลี่ยนเลนนะครับ ใครอยู่เลนไหนก็อยู่เลนนั้น เลนซ้ายชิดซ้าย เลนขวาชิดขวา”

เพียงเท่านั้น เมื่อรถทุกคันพร้อมใจปฏิบัติตาม สะพานสองเลนแคบๆ ก็มีเลนที่สามเปิดขึ้นตรงกลาง ให้รถหวอวิ่งผ่านไปได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วรถของผมและเพื่อนร่วมทางทั้งสองเลนที่เหลือจะต้องอยู่กับรถติดต่อไป แต่ผู้เดือดร้อนบนรถหวอคงจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ในฐานะที่เคยอยู่บนรถหวอที่นำส่งสมาชิกในครอบครัวมาแล้ว ผมเข้าใจว่าภาวะที่ต้องเจอรถติดในขณะที่ทุกวินาทีมีค่านั้นทรมานแค่ไหน แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้วที่ได้มีส่วนช่วยให้รถหวอคันนั้นวิ่งผ่านไปได้เร็วขึ้นสักนิดก็ยังดี

ณ วินาทีที่รถหวอวิ่งผ่านรถผมไป ผมรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นภาพสะท้อนของสังคมได้ ตราบใดที่ทุกคนมีจุดหมายร่วมกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องไปขวางทางหรือก้าวก่ายหน้าที่ของอีกฝ่าย ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปอย่างเดิมๆ มีอะไรสอนเราได้ตลอดจริงๆ

ป.ล. ขอขอบคุณพี่อาร์ท (try2benice) ที่ให้ชื่อ “สะพานแคบ ใจกว้าง” มาทาง facebook ตอนที่ผมโพสท์เรื่องนี้ครั้งแรกจากมือถือ

Wired Magazine – iPad Edition

August 31st, 2010

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร art4d ฉบับที่ 172 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553

Wired Magazine – iPad Edition
June 2010
Conde Nast Digital

ความพยายามในการใช้สื่อดิจิทัลมาทดแทนสิ่งพิมพ์ในรูปแบบหนังสือนั้นมีมานานมากแล้ว คำว่า e-book เริ่มปรากฏในสื่อมาไม่น้อยกว่า 10 ปีและกระจัดกระจายอยู่บนอินเตอร์เน็ตจนถึงอุปกรณ์พกพาต่างชนิด ไม่เว้นแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ในลักษณะที่พยายามจะเลียนแบบหนังสือเล่มให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยกหน้าของหนังสือเล่มมาวางไว้บนหน้าจอให้พลิกอ่านได้ ทั้งยังใส่เสียงพลิกหน้ากระดาษเพื่อเลียนแบบประสบการณ์จากเทคโนโลยีเก่าให้ถึงที่สุด จนถึงลักษณะที่เป็นข้อความล้วนๆ บนหน้าจอขาวดำของอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่มีความสามารถในการแสดงผลจำกัด แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถทำให้ e-book เข้ามาเป็นรูปแบบหลักของการบริโภคข่าวสารแทนที่หนังสือเล่ม จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปีมานี้เองที่ความพร้อมของปัจจัยหลายอย่างเริ่มมาบรรจบกัน ด้วยปริมาณของข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลที่มีมากขึ้นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้การส่งต่อข้อมูลสะดวกขึ้น อุปกรณ์พกพาที่มีความสามารถดีขึ้นและให้ประสบการณ์การอ่านใกล้เคียงการถือหนังสือเล่มมากขึ้น รวมทั้งความพร้อมของสิ่งพิมพ์ และวารสารประเภทต่างๆ ในการปรับตัวเข้าสู่ระบบการจัดจำหน่ายสื่อดิจิทัลเพื่อรองรับอุปกรณ์เหล่านั้น

Read the rest of this entry »

ผมเป็นเด็กสยาม พ่อเป็นเด็กพระรามสี่

May 19th, 2010

“ผมเป็นเด็กสยาม”

ราวสามสิบปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่รู้ความ คุณแม่พาผมนั่งเบาะเด็ก ติดรถไปร้านขายเสื้อผ้าของแม่ที่สยามเซ็นเตอร์ ที่นั่น, ผมได้รู้จักกับเพื่อนๆ ของคุณแม่ ที่เป็นเจ้าของร้านข้างเคียง, พนักงานร้านอาหารไฮไลท์ บนชั้นสี่ เครือเดียวกับนิวไลท์ ในสยามสแควร์

ยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนเริ่มเดินได้และซุกซน ผมหกล้มในร้านของคุณแม่ในสยามเซ็นเตอร์เพราะเต้นตามเพลงแรงไปหน่อย หัวแตก ต้องเย็บหลายเข็ม เป็นแผลเป็นอยู่บนหน้าผากถึงทุกวันนี้

สิบกว่าปีก่อน ผมก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ชอบมาเดินเที่ยว ดูหนัง เรียนพิเศษ ในสยามสแควร์ มีเพื่อนบางกลุ่มมีร้านประจำ โต๊ะประจำในสยามสแควร์ ชอบเข้าร้านหนังสือบนเวิร์ลดเทรด จนเมื่อเป็นนิสิตจุฬาฯ ก็ยังใช้เวลาว่างในสยามสแควร์ และฝึกงานกับค่ายเพลงแห่งหนึ่งในสยามสแควร์

สิบปีผ่านไปหลังจากเรียนจบ ผมยังนิยมแวะเวียนไปสยามสแควร์ ไปซื้อเพลงจากร้านเดิมที่เคยอุดหนุนกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย

Read the rest of this entry »

Pitching Fee

February 16th, 2010

เมื่อวานนี้มี (ว่าที่) ลูกค้ารายใหม่ ติดต่อเข้ามา อยากจะจ้างบริษัทของผมออกแบบ identity ให้ หลังจากได้คุยรายละเอียดผลิตภัณฑ์คร่าวๆ แล้วจึงเฉลยว่าจะต้องแข่งกับอีกสองสามราย อยากให้เข้าไปรับบรีฟแล้วเสนอผลงานร่างแรกกลับมาพร้อมกับราคา ผมจึงตอบไปว่า “ต้องมีค่าใช้จ่าย”

ในมุมมองของผม การออกแบบกราฟิกคือธุรกิจบริการ มีต้นทุนคือเวลาและพลังสมอง มีผลิตผลเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าทำงานไปให้ฟรีๆ แล้วลูกค้าถูกใจแบบของผม แต่ถูกใจราคาของผู้ให้บริการรายอื่น ก็ไม่มีหลักประกันใดว่าจะไม่ถูกนำเอาแบบไปให้รายอื่นทำต่อ หรือเก็บไว้ทำเอง ถ้ามองโลกในแง่ร้าย ต่อให้มีค่าเหนื่อยให้ ก็อาจจะถูกนำแบบไปใช้ได้อยู่ดี แต่อย่างน้อย ไม่ต้องทำงานฟรี

Read the rest of this entry »