พลังลบ

เนื่องด้วยได้รับเชิญไปพูดในงาน Pecha Kucha Bangkok ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “พลังลบ” เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 เมื่อเสร็จงานแล้วจึงขอนำสไลด์และเนื้อหามาบันทึกไว้ที่นี่ เป็นการอ้างอิงส่วนตัว และเผื่อแผ่แก่ผู้ที่ไม่ได้ไปงานมาอ่านดูครับ

1. เรื่องทุกเรื่องในชีวิตเรา จะเป็นบวกหรือเป็นลบ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา ผมขอยกกรณีศึกษาถึงพลังลบที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต โดยนำไปเปรียบเทียบกับตัวละครในการ์ตูน, หนัง และเกม

2. ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) อาจจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย แต่เริ่มต้นแล้วเขาเป็นเด็กเก่ง มีความสามารถ ที่มีเจตนาดี แต่ความต้องการจะควบคุมทุกสิ่งให้เป็นอย่างใจต้องการ (รักแม่, รักเมีย) ทำให้ความคิดบวกของเขาถูกบิดเบือนไปเป็นความคิดลบ พร้อมกับการเข้าสู่ด้านมืดในที่สุด

3. ออซีแมนเดียส (Ozymandias) จากเรื่องวอทช์เมน (Watchmen) – เป็นอีกตัวอย่างของเจตนาดีและความคิดบวกที่กลายเป็นลบเพราะความยึดมั่นในอุดมคติมากเกินไป

เขาเป็นมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลก มีเจตนาดีที่ต้องการจะขจัดความขัดแย้งและสงคราม ฟังดูดีตามประสาฮีโร่ แต่วิธีการคือสร้างศัตรูร่วมกันให้กับทุกรัฐในโลกโดยสร้างสัตว์ประหลาดมาถล่มเมืองแล้วทำให้ดูเหมือนเป็นการรุกรานจากต่างดาว (หรือถ้าในฉบับภาพยนตร์ คือ การจำลองการทำลายล้างให้เป็นฝีมือของด็อกเตอร์ แมนฮัทตัน ฮีโร่อีกคนหนึ่ง) และทำให้มีคนตายมากมาย แม้ว่าท้ายที่สุดความต้องการของเขาจะเป็นจริง โลกสงบสุข หยุดความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ต้องสูญเสียไปนั้นคุ้มแล้วหรือ?

4. รอร์แชค (Rorschach) จากเรื่องวอทช์เมน – ในขณะที่ฮีโร่อีกหลายคนจำใจยอมรับการกระทำของออซีแมนเดียส รอร์แชคผู้มีนิสัยไม่ประนีประนอม ยังคงไม่เห็นด้วย และเลือกที่จะยอมถูกฆ่าตาย แทนที่จะยอมรับความจริงที่ไม่อาจเปิดเผยได้

บุคลิกแบบขาวจัด-ดำจัดของรอร์แชค มาจากการที่เขาได้รับความกระทบกระเทือนใจในวัยเด็ก และเลือกที่จะระบายความรุนแรงกับผู้ร้ายบนท้องถนนโดยไม่เลือกวิธีการ เจตนาของรอร์แชคเป็นบวก เพราะจิตใจของเขาเต็มไปด้วยพลังลบที่รังเกียจความเหลวแหลกของสังคม

5. แบทแมน (Batman) – เขาผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจคือเห็นพ่อแม่ถูกฆ่าต่อหน้าต่อตาด้วยน้ำมือของโจรข้างถนน แต่แทนที่จะจมอยู่กับพลังลบของความเศร้าและความแค้น หรือใช้ชีวิตให้มีความสุขไปวันๆ ด้วยมรดกกองโต เขากลับเลือกที่จะไปฝึกตนเพื่ออุทิศชีวิตให้กับการกำจัดความชั่วร้ายจากเมืองที่เขาอยู่ เพื่อไม่ให้ใครต้องมาประสบชะตากรรมเดียวกันอีก

6. โจกเกอร์ (Joker) – ศัตรูคู่อาฆาตของแบทแมน มีต้นกำเนิดที่ไม่แน่ชัด แตกต่างกันไปตามการตีความของผู้เขียนแต่ละท่าน แต่โดยส่วนตัวผมชอบการตีความที่อยู่ในหนังสือ  The Killing Joke โดย อลัน มัวร์ (Alan Moore) ซึ่งกำหนดให้เขาเป็นดาราตลกที่ชีวิตล้มเหลว (งานไม่รุ่ง, เมียตาย, ฯลฯ) จนต้องไปพัวพันกับอาชญากรรม และความรู้สึกลบจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าที่ทำให้เขาต้องหัวเราะเยาะตัวเอง ก็ทำให้เขากลายเป็นผู้ร้ายที่ยัดเยียดความตลกร้ายนั้นให้กับผู้อื่น เจตนาและการกระทำของเขาเป็นคู่ตรงข้ามกับแบทแมนโดยแท้

7. เดอะฮัลก์ (The Hulk) – ยักษ์เขียวจอมพลังที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังลบที่เรียกว่าความโกรธ

ความน่าสนใจของเดอะฮัลก์คือความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างร่างปกติ คือ บรูซ แบนเนอร์ (Bruce Banner) นักวิทยาศาสตร์ผู้มีบุคลิกสุภาพเรียบร้อยและเปี่ยมสติปัญญา กับร่างยักษ์ที่เต็มไปด้วยพลังแต่ปราศจากสติปัญญา นั่นคือการที่ปล่อยให้พลังลบเข้ามามีอิทธิพลโดยปราศจากการควบคุม และมาบดบังคุณลักษณะเด่นของตนเอง

เดอะฮัลก์อยู่ในสถานะผู้ร้ายที่ถูกตามล่าจนเมื่อเขาสามารถคุมสติอยู่ได้แม้จะแปลงร่างแล้ว และนำพลังมหาศาลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เลื่อนสถานะมาเป็นฮีโร่อย่างสมบูรณ์

8. โกคิ (Gouki) ยอดนักสู้จากสตรีทไฟท์เตอร์ – ใครที่เคยเล่นเป็นโกคิจะรู้ว่า เป็นตัวละครที่มีท่าไม้ตายรุนแรงที่สุดในเกม ด้วยภาพลักษณ์ที่ชั่วร้าย เราอาจจะคิดว่าโกคิก็เป็นพวกบ้าพลัง ช่างอาละวาดเหมือนเดอะฮัลค์ แต่ที่จริงแล้วโกคิยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะไม่ลงมือกับคู่ต่อสู้ที่ไม่คู่ควร พลังลบของเขาจึงถูกควบคุมไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น และถูกใช้อย่างมีวัตถุประสงค์เท่านั้น

9. ฮันมะ ยูจิโร่ จากเรื่องบากิจอมประจัญบาน – ยอดนักสู้ที่ถือเป็น “สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก” มีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังลบ เกะกะระราน ท้าตีท้าต่อยชาวบ้านไปทั่ว แต่ก็ยังมีข้อดีที่น่าเอาอย่าง คือ ไม่เคยปล่อยให้พลังลบของตัวเองมาทำให้ตัวเองรู้สึกลบเลย แถมยังมีพลังบวกที่เรียกว่า “ความเซ้ว” ในระดับที่เหนือกว่าใครในโลก ทั้ง self-centered และ self confident เสียจนไม่เชื่อว่ามีอะไรที่กำปั้นตัวเองทำไม่ได้… เกิดแผ่นดินไหวยังเอาหมัดต่อยพื้นจนหยุด! คิดดู…

10. ศาสตราจารย์ดีสตี โนวา (Professor Desty Nova) จากเรื่อง Gunnum – นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะที่นำสติปัญญาและความสามารถของตนมาใช้เป็นพลังลบ หลังจากที่จิตวิปลาสไปเมื่อค้นพบว่าสมองของตัวเองถูกเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ชิป

เขาทำการทดลองกับคนเป็นๆ ด้วยข้ออ้างว่าต้องการเอาชนะ “กรรม” ถึงขนาดที่ใช้นาโนเทคโนโลยีพัฒนาระบบต่างๆ ในร่างกายตนเองเพื่อความเป็นอมตะ

11. กัลลี (Gally) จากเรื่อง Gunnm – ไซบอร์คที่มีสมองเป็นเลือดเนื้อ แต่ร่างกายทั้งหมดเป็นเครื่องจักร แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอมองว่าตนเองมีความเป็นมนุษย์เหนือกว่าหรือด้อยกว่าใคร

ในเรื่อง Gunnm มีประเด็นถกเถียงในเรื่องลำดับขั้นและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ระหว่างไซบอร์ค, มนุษย์ปกติ และมนุษย์ที่ถูกเปลี่ยนสมองเป็นชิป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะดีชั่ว ลบหรือบวก ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ เจตนา และการกระทำเท่านั้น

12. ศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ เซเวียร์ (Professor X) จากเรื่อง เอ็กซ์เมน (X-Men) – ท่ามกลางความรู้สึกลบจากคนรอบข้างที่มองมนุษย์กลายพันธุ์เป็นสิ่งแปลกปลอมทางสังคม เขาเลือกที่จะมองความแปลกแยกเป็นพรสวรรค์ และส่งเสริมการใช้พรสวรรค์นั้นในทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

13. ซูเปอร์แมน (Superman) – เขาควรเป็นอีกคนที่เต็มไปด้วยพลังลบจากความรู้สึกแปลกแยก เพราะเป็นเด็กกำพร้าผู้รอดชีวิตจากดาวระเบิด และสามารถนำความสามารถที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง หรือจะยึดครองโลกก็ไม่น่าจะยาก แต่เมื่อซูเปอร์แมนใช้พลังมาสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ทุกคนก็ยอมรับในความแตกต่างนั้น

14. สไปเดอร์แมน (Spider-man) – บ่อยครั้งที่เราต้องสู้กับพลังลบในตัวเราเอง เช่นเดียวกับสไปเดอร์แมน ในภาพยนตร์ ภาค 3

จากเด็กวัยรุ่นแหยๆ มาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ไม่ว่าใครก็ต้องเจอภาวะนี้ด้วยกันทั้งนั้น อย่าปล่อยให้พลังลบที่มักจะน่าสนใจกว่า ชนะพลังบวกในตัวเราก็แล้วกัน

15. ศิษย์ลับของดาร์ธ เวเดอร์ (The Secret Apprentice) หรือ สตาร์คิลเลอร์ จาก The Force Unleashed – เป็นตัวอย่างของการเลือกใช้พลังลบในทางบวก ด้วยเจตนาอิสระของตัวเอง

เขาถูกเวเดอร์เล้ี้ยงดูมาเพื่อเป็นมือสังหาร และฝึกฝนจนมีพลังที่สามารถดึงเรือรบได้ทั้งลำ แต่สุดท้ายก็เลือกเส้นทางให้ตัวเองจนกลายเป็นจุดกำเนิดของกองกำลังกบฎ

16. ฅนเหล็ก (Terminator) – อีกหนึ่งตัวอย่างของผู้เปี่ยมด้วยพลังลบ มุ่งมั่นที่จะตามล่าและทำลาย

เราได้เห็นแล้วว่าความอึด ทน และยึดมั่นต่อหน้าที่ของเครื่องจักรสังหารนี้น่ากลัวเพียงใดในภาพยนตร์ภาคแรก หากแต่นั่นเป็นการทำตามหน้าที่โดยปราศจากเจตนาอิสระเช่นกัน ท้ายที่สุดเมื่อความสามารถนี้ถูกนำมาใช้ให้ถูกที่ถูกทางในภาคต่อต่อมา เราก็ได้เห็นว่าจะลบจะบวกนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาในการนำพลังไปใช้

17. อะตอม เจ้าหนูปรมณู (Astroboy) – ตัวอย่างของหุ่นยนต์ที่เต็มไปด้วยพลังบวก แต่จะมีใครรู้บ้างว่าจุดกำเนิดของอะตอมนั้นมาจากการที่ดร.เทนมะ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ สร้างเขาขึ้นมาเพื่อทดแทนลูกชายที่เสียชีวิตในอุบัติเหตุ อีกหนึ่งตัวอย่างของการนำพลังลบมาเป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์

18. อุซป จากเรื่องวันพีซ (One Piece) – การมีคนที่มีพลังลบอยู่ใกล้ตัว อาจทำให้เราเผลอติดลบไปได้โดยไม่รู้ตัว

อุซปเป็นตัวละครที่คิดลบ ขี้ขลาด และขี้นอยด์ที่สุดในกลุ่มพระเอก แต่กลับไม่ค่อยเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหามากเท่าคนที่คิดบวกไปซะทุกอย่างแบบลูฟี่ กล่าวคือ เราต้องรักษาสมดุลของความบวกลบในกลุ่มเพื่อนฝูงให้ดี

19. โดราเอมอน – คุยมาตั้งนานเรื่องลบๆ บวกๆ สุดท้ายอยากจะขอชื่นชมโดราเอมอน ที่ใช้ชีวิตอยู่คู่กับบุคคลที่เปี่ยมด้วยพลังลบที่สุดในจักรวาลการ์ตูนอย่างโนบิตะ แต่ก็ยังรักษาความเป็นบวกได้เสมอต้นเสมอปลาย สมแล้วที่เป็นขวัญใจเด็กๆ มานับสิบปี

20. สรุปว่า… การมีหลังบวกหรือลบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งจากลบไปเป็นบวก และจากบวกไปเป็นลบ ทั้งยังขึ้นอยู่กับว่ามองจากมุมไหน เพื่อวัตถุประสงค์ใด หมั่นดูแลความคิดของตัวเองให้มั่นคง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามอิทธิพลของคนอื่น และมีสติควบคุมพลังทั้งลบและบวกให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวเองและทุกคนรอบข้าง

คิดเห็นอย่างไร ฝากคอมเมนท์ไว้ หรือมาเริ่มถกกันก็ได้นะครับ จะยินดีอย่างยิ่ง

4 Responses to “พลังลบ”

  1. ขอบคุณมากครับ ได้แง่คิดที่ชัดเจน และใกล้ตัวมาก
    ตัวละครทุกตัวเป็นสิ่งที่คนรู้จัก และยังสามารถสะท้อนให้เห็นด้านต่างๆ ในตัวของเราเองได้ และยังได้ช่องทางในการคิด เพื่อแปลงพลังลบให้กลายเป็นพลังบวกได้
    เหมือนกับว่า ไม่สำคัญว่าเราจะเกิดมาบวก หรือลบ มีปมต้อย หรือเด่นแค่ไหน
    แต่สำคัญว่าเราจะเรียนรู้ และนำมันมาใช้ให้เกิดพลังบวกต่อตัวเอง และสังคมอย่างไร
    ในทุกๆ วัน ผมคิดว่านี่คือหนึ่งสิ่งที่ได้รับจากอาจารย์วี ครับ

  2. ขอบคุณสำหรับแง่คิดดีๆ และตัวอย่างที่ชัดเจนนะคะ
    เราคิดว่าในเรื่องของ”พลังบวก” กับ “พลังลบ” เนี่ย
    แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นแรงผลัก
    ให้เห็นความต่างอย่างยิ่งคือ”เจตนารมณ์”ค่ะ โดยเฉพาะ
    เมื่อเจตนารมณ์นั้นๆถูกเคลือบไปด้วย “อัตตา” ในการ์ตูน
    หรือหนังหลายๆเรื่อง อัตตาที่แนบไปกับเจตนารมณ์นี้
    ได้แสดงผลอย่างชัดเจนมากกว่าตัว “พลัง” เองซะอีก

  3. เป็นบทความที่ดีมากๆเลยคับ อ่านแล้วได้แง่ต่อการกระทำของคนเราได้ดีจิงๆ

  4. น้อยExop Says:

    October 27th, 2012 at 01:39

    เป็นการ ยกตัวอย่าง ที่เห็นภาพชัดมากเลย ครับ
    สรุป ได้ สุดยอด ด้วย
    ได้ประโยชน์ มากมาย ขอบคุณ จากใจ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.