พี่สอนน้องสร้างภาพ

June 27th, 2009

IMG_0221

เมื่อวันที่ 20 มิถูนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปพูดที่นิทรรศการ “สร้างภาพ” (Visual Constructor) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขา Visual Communication Arts มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พร้อมกับแขกรับเชิญอีกท่านคือพี่เคล, เคลวิน หว่อง จาก K Kelvin Studio, แขกไม่ได้รับเชิญที่เดินห้างอยู่ก็เข้ามาแจมซะงั้น คือ พี่จิ๊ด พิชิต วีรังคบุตร ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และอาจารย์ของที่นั่นอีกคน คือ คุณแต๊ป วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ จาก graphicfarm

เนื้อหาที่คุยกันเป็นเรื่องกว้างๆ คือการให้คำแนะนำกับน้องๆที่จบใหม่ ว่าจะไปพบเจออะไรในการประกอบวิชาชีพสายกราฟิกดีไซน์ ตอนแรกบางคำถามที่นักศึกษาส่งมาให้ดูก่อนนั้นตอบยากมาก แต่สุดท้ายก็ปรับรูปแบบมาเป็นการนั่งคุยกันแบบไม่ต้องมีพิธีรีตรอง แบบพี่สอนน้องไป คิดดูแล้วก็น่าใจหาย ผมเรียนจบปริญญาตรีมาเก้าปีแล้ว เคยแต่ไปพูดให้นักศึกษาเข้าใหม่ในวันปฐมนิเทศน์ แต่ไม่เคยมีโอกาสอะไรกับนักศึกษาจบใหม่ในเรื่องแบบนี้เลย เมื่อเทียบประสบการณ์กับอีกสามท่านที่เหลือก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเหมาะจะมานั่งอยู่ตรงนั้นเท่าไหร่ แต่พอได้คุยไปก็รู้สึกสนุกและไหลลื่นไปเรื่อยจนเกินเวลาที่กำหนดไปเยอะ คิดว่าที่คุยกันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ จึงขอนำมาบันทึกไว้คร่าวๆ เท่าที่จำได้ ตรงนี้ (ขออภัยที่ไม่ได้แยกแยะว่าข้อไหนใครเป็นคนพูด เพราะแต่ละคนช่วยกันเสริมต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ)

Read the rest of this entry »

กินไปเรื่อย

May 25th, 2009

explodedcart

หลายคนคงได้ไปดูนิทรรศการ “กินไปเรื่อย: เจาะวิถีอร่อยริมทาง” ที่ TCDC กันมาแล้ว ตัวผมเองได้เดินเข้าไปดูนิทรรศการนี้อย่างตั้งใจสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกไปกับชาวสิงคโปร์ที่ชื่นชอบอาหารไทย แต่ดูเหมือนเขาจะคำนึงถึงตัวอาหารที่มีรสชาติประทับใจมากกว่าส่วนประกอบทางวัฒนธรรมอื่นๆ จึงไม่ค่อยแสดงอาการสนใจหรือประทับใจเท่าไหร่นัก แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับครั้งที่สอง เพื่อนร่วมทางเป็นสาวไทยช่างกินที่ออกอาการตื่นตาตื่นใจตลอดการเข้าชมถึงขั้นพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “นิทรรศการนี้ดูแล้วหิว”

ตัวผมเองค่อนข้างชอบนิทรรศการนี้ตรงที่หยิบเอาประเด็นที่เราอาจจะไม่เคยคิดถึงเกี่ยวกับการกินอาหารริมทางมาแสดงให้เห็น เช่น ความผูกพันกับการกินที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมหลายอย่างของคนไทย โดยเฉพาะการใช้ภาษาสำนวนที่มีเรื่องของการกิจไปแฝงตัวอยู่ หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประดิษฐ์เครื่องมือที่น่าสนใจมาใช้ในการค้าขายอาหารและกิจกรรมอื่นๆเกี่ยวกับการกิน เป็นต้น

ส่วนที่ประทับใจที่สุดเป็นการส่วนตัวคือ exploded view ของรถเข็นขายอาหาร พร้อมข้อเสนอแนะการปรับปรุงจากผู้ใช้งาน – ด้วยความที่ชอบวิธีการนำเสนอแบบแยกส่วน หรือผ่าเข้าไปให้เห็นส่วนประกอบข้างในนี้เป็นพิเศษตั้งแต่ที่เห็นในตำราวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ยันการผ่ายาน ผ่าหุ่นยนต์ ในหนังสือเกี่ยวกับ Star Wars และ concept art ของภาพยนตร์หลายเรื่อง พอได้เห็นของที่ตัวเองคุ้นเคยโดนผ่าแยกส่วนให้ดูเลยเกิดอาการอินเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่เดินวนรอบรถเข็นอยู่หลายรอบ

อีกเรื่องที่สะกิดใจคือวีดีโอที่ถามประชาชนว่าจะมีอะไรมาแทนถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารข้างทางเหล่านี้ได้หรือไม่ – ถ้าตอบแบบตามกระแสรักโลกว่าให้กลับไปใช้ใบตอง ก็จะเจอ fact ตอกกลับว่าทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการที่ทำให้ได้ใบตองมานั้นไม่ได้น้อยเลย สรุปว่าจะคิดอะไรต้องมองให้รอบด้าน น่าเสียดายที่สุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ แต่ถ้ามีคำตอบชัดเจน ใครๆก็คงเลิกใช้ถุงพลาสติกกันไปนานแล้ว

สรุปว่า ผมดูนิทรรศการนี้แล้วไม่หิว แต่ได้ความรู้และแรงบันดาลใจมาจนเกือบอิ่ม ขอบคุณ TCDC

ชมภาพถ่ายจากนิทรรศการ

“design ไป บ่นไป”

April 28th, 2009

dpbp-logo-450x269.png

“design ไป บ่นไป” เป็นรายการพอดคาสท์ที่เป็นพื้นที่สนทนาของนักออกแบบ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานออกแบบ วิชาชีพสายออกแบบ และการศึกษาด้านการออกแบบ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ, นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

เชิญรับฟังได้ที่ www.designpaibonpai.com

Hi5 เป็นเรื่องที่ต้องใช้ตำรา?

April 27th, 2009

Hi5555

Hi5 เป็นเว็บที่ตกเป็นจำเลยในเรื่องเสื่อมๆ ของสังคมไทยเสมอมา ทั้งยังมีข่าวว่า Hi5 เป็นเว็บที่คนไทยเข้ามากที่สุด และคนไทยยังใช้เว็บ Hi5 เยอะที่สุดเป็นอันดับสองในโลกรองจากสาธารณรัฐโดมินิกันมาตอกย้ำอีกต่างหาก ฟังดูเหมือนเป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนยอมรับโดยไม่ต้องการข้อพิสูจน์

ไม่กี่วันนี้เพิ่งไปสังเกตเห็นข้อพิสูจน์และดัชนีชี้วัดความนิยม Hi5 อีกอย่างหนึ่งที่ร้านหนังสือบนห้าง ในหมวดหนังสือคอมพิวเตอร์ขายดี มีหนังสือสอนเล่นและแต่ง Hi5 วางเรียงกันอยู่สี่เล่ม ใกล้กับหนังสือสอนใช้โปรแกรมทำมาหากินสามัญประจำเครื่องอย่าง Microsoft Office และ Windows Vista

สรุปว่าคนไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์มีความสนใจที่จะเรียนรู้เรื่อง Hi5 มากมายไม่แพ้กับสนใจหัดใช้ MS Office – เจริญ!

งานออกแบบใกล้ตัว #1

April 27th, 2009

drinks price

จากประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “งานออกแบบไม่ใช่เรื่องไกลตัว”, ผมไปสังเกตเห็นหลักฐานจากแผงขายน้ำที่เดินผ่านขณะมาทำงาน พบว่าเจ้าของแผงได้ใช้การออกแบบช่วยในการนำเสนอข้อมูลราคาเครื่องดื่มบนป้ายชิ้นนี้

จะเห็นว่า ตัวอักษรชื่อเครื่องดื่มและราคา ถูกวางอยู่บนพื้นสีที่สอดคล้องกับสีของตัวเครื่องดื่ม และสีของไอศกรีม เช่น น้ำสับปะรดใช้พื้นสีเหลือง, นมสดสีขาว, สตรอเบอรี่สีชมพู, ชาเขียวสีเขียว, ชาเขียวนมที่อยู่ข้างกัน ใช้สีเขียวที่อ่อนลงมา, โกโก้ใช้สีน้ำตาลที่อ่อนกว่าโอเลี้ยงกับชาดำเย็น เป็นต้น (แต่มีแอบพลาดที่น้ำเขียวโซดาเป็นสีแดง)

ทั้งหมดนี้เจ้าของแผงอาจจะทำลงไปโดยไม่ได้คิดว่านี่คือการออกแบบเลยก็ได้ เพราะการเลือกใช้สีตามสินค้าเหล่านี้ย่อมอยู่ในสามัญสำนึก แต่จุดนี้นั่นเองที่ทำให้ผู้เลือกซื้อมองเห็นราคาของเครื่องดื่ม, ไอศกรีม ที่ตัวเองต้องการได้เร็วกว่าป้ายที่เป็นรายการเฉยๆ ซึ่งป้ายนี้จะมีประโยชน์กว่านี้มาก ถ้าสินค้าแต่ละรายการมีราคาไม่เท่ากัน

อย่างน้อยความตั้งใจที่จะหาสติกเกอร์สีต่างๆ หลากหลายขนาดนี้มาเป็นพื้นหลังก็แสดงให้เห็นว่างานนี้ไม่ได้ทำขึ้นมามั่วๆ แน่นอน

Motor Show

April 6th, 2009

3409846220_a7aa4ab7d6_o

สัปดาห์ที่แล้วได้แวะไปชมงานมอเตอร์โชว์ที่ไบเทค โดยมีแขกชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ติดตามไปด้วย แขกคนที่ว่านี้เขาเดินทางไปชมงานแสดงรถยนต์และสินค้าเกี่ยวกับรถยนต์มาแล้วทั่วโลก ในขณะที่นอกจากงานในเมืองไทยแล้ว ผมเคยไปแค่ไม่กี่ที่ คือที่ Tokyo Motor Show และนอกจากนั้นจะเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ที่ขนาดไม่ใหญ่มากที่สิงคโปร์ และจีน

เท่าที่ได้คุยกัน เขาสรุปว่า งานแสดงรถยนต์ของประเทศผู้ผลิต และเจ้าของยี่ห้อ เช่น ญี่ปุ่น, อเมริกา และเยอรมัน จะเป็นงานแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ เน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์ และไม่ขายของ ในขณะที่ประเทศกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ผลิตจะเน้นขายของ เหมือนที่เราเห็นกันในงานมอเตอร์โชว์และมอเตอร์เอ็กซ์โปในบ้านเรา

ส่วนเรื่องพริตตี้ ซึ่งในบ้านเราถือเป็นจุดขายอย่างหนึ่งไปแล้ว เขาบอกว่า จะเห็นเน้นหนักก็ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียนี่เอง แถมยังย้ำด้วยว่า ความสวยของพริตตี้บ้านเรา โด่งดังจนชาวต่างชาติขาประจำงานโชว์รถทั้งหลายต้องไม่พลาด – ขนาดนั้น!

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพราะความสวยระดับอินเตอร์ของน้องๆ พริตตี้นี่เองที่ทำให้งานโชว์รถกลายสภาพเป็น “มหกรรมพริตตี้แห่งชาติ” และกลายเป็นงานชุมนุมตากล้องที่น่าจะเห็นคนสะพายกล้องเดินเบียดกันแน่นกว่า Photokina เสียอีก

ส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบถ่ายพริตตี้ แต่พบกว่านอกจากการถ่ายรูปรถสวยๆ ในงานนี้แล้ว สิ่งที่สนุกสนานไม่แพ้กันคือ “การถ่ายรูปคนรุมส่องพริตตี้” เชิญเข้าไปดูได้ ที่นี่ แล้วจะรู้ว่า ที่ยืนเบียดๆ กันถ่ายรูปนั้นไม่ได้สนใจรถกันเล้ย…

wv-blog.com is now weeviraporn.com

April 1st, 2009

Notice :

www.wv-blog.com is now www.weeviraporn.com

Please update your bookmark and RSS feed accordingly.

An evening with Kelvin Wong

March 29th, 2009

เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสนั่งคุยกับ Kelvin Wong หรือ “พี่เคล” นักออกแบบกราฟิกรุ่นพี่รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว และเคยได้ร่วมงานกันมาสองสามหน เพื่ออัดเสียงเป็นตอนที่สองของรายการ podcast ที่กำลังจัดทำอยู่  โดยนั่งคุยเป็นกลุ่มสามคนที่มีปิยพงศ์ ภูมิจิตร (อุ้ม) จาก art4d ร่วมด้วย ความตั้งใจคือ อยากจะคุยกับผู้ร่วมสนทนาครั้งแรกในกลุ่มที่เล็กลง เพื่อให้ได้ความเห็นจากแต่ละคนชัดเจนมากขึ้น

dsc_5116

ในเวลาสั้นๆ ที่ได้คุยกันจริงจังนี้ทำให้รู้จักกับพี่เคลมากขึ้น และได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเรียน, การทำงาน รวมถึงการตั้งเป้าหมายในวิชาชีพ

อีกไม่นานนี้คงได้เวลาเปิดตัว podcast รายการใหม่นี้ เช่นเคย ใครอยากเอาไปฟังก่อนเพื่อติชม แจ้งมาได้เลยครับ

ชมภาพเพิ่มเติม

Interview with Mark Farrow

March 28th, 2009

wee+farrow

บทสัมภาษณ์ Mark Farrow ชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร art4d ฉบับประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552

WV: ช่วยเล่าประวัติของคุณให้เรารู้หน่อยสิ

MF: ผมเกิดที่แมนเชสเตอร์ตั้งแต่จำความได้ก็อยากเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมอยากออกแบบกราฟิกสำหรับวงการเพลงและก็โชคดีที่ตอนนั้นค่ายเพลงชื่อ FactoryRecords เพิ่งเริ่มต้นขึ้นนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบสำหรับวงการเพลงของผมเพราะตอนนั้นผมอยู่แมนเชสเตอร์ก็เลยไม่มีทางอื่นมากนักที่คุณจะได้ทำงานออกแบบหรอกหลังจากนั้นผมก็รวบรวมพอร์ตโฟลิโอที่ผมทำงานให้กับแฟคตอรี่เรคคอร์ดแล้วก็ย้ายมาลอนดอนและได้เริ่มงานกับ Pet Shop Boys เลยทำให้ผมมพอร์ตโฟลิโอที่ดีหลังจากนั้นบริษัทที่ผมทำอยู่ก็เริ่มอยู่ตัวผมก็เลยเปิดบริษัทของตัวเองก็ประมาณช่วงเวลานั้นหละ

WV: มันฟังดูง่ายกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงใช่ไหม

MF: ใช่สิมันเป็นการอธิบายอย่างง่ายๆและตรงไปตรงมาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมันซับซ้อนกว่านั้นมาก

WV: ผมว่าคนส่วนใหญ่จะจดจำผลงานของคุณได้จากงานออกแบบในวงการเพลง

MF: ใช่

WV: รวมถึงพวกเราด้วยแต่เราก็เห็นว่างานออกแบบอื่นๆของคุณก็น่าสนใจเช่นกันคุณคิดไหมว่าทำไมคนถึงจดจำคุณได้จากผลงานออกแบบให้กับวงการเพลงทำไมงานเหล่านั้นถึงโดดเด่นกว่าผลงานอื่นของคุณ

MF: ผมคิดว่าผมมีชื่อเสียงขึ้นมาได้จากการออกแบบปกซีดีเหล่านั้นผลงานออกแบบของเราได้รางวัลและได้ตีพิมพ์มากมายแต่ผมก็ยังรู้สึกว่าพวกเราใช้วิธีคิดเดียวกันกับการออกแบบปกซีดี เวลาออกแบบแกลเลอรี่ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือบรรจุภัณฑ์ให้กับลีวายส์ไม่ว่างานออกแบบอะไรก็ตามพวกเรามักจะใช้วิธีคิดและวิธีการทำงานแบบนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะงานเพลงง่ายต่อการเผยแพร่และการทำให้คนเห็นในทางกลับกันมันไม่มีเหตุผลที่จะเอาป้ายยี่ห้อลีวายส์หรืออะไรทำนองนั้นออกมาโชว์ผมว่านั่นคือเหตุผลพวกเราทำงานหลายๆอย่างมากขึ้นเรื่อยๆผมชอบนะผมชอบทำงานที่หลากหลาย

WV: แต่งานที่คุณชอบทำมากที่สุดยังคงเป็นงานออกแบบปกซีดีใช่มั๊ยถ้าเทียบกับงานออกแบบภาพลักษณ์หรืองานออกแบบหนังสือ

MF: ไม่ผมไม่คิดอย่างนั้นผมชอบออกแบบปกซีดีเฉพาะตอนที่ได้ทำงานออกแบบที่ดีแต่ตอนนี้ในวงการเพลงการจะทำงานออกแบบให้ดีได้นั้นเป็นเรื่องอยากแล้วล่ะถ้าเทียบกับเมื่อก่อน

WV: งบประมาณน้อยลงเรื่อยๆและตอนนี้ก็ไม่มีใครซื้อซีดีกันอีกแล้ว…MF: ใช่จริงๆแล้วมันก็รวมๆกันแหละทั้งงบประมาณที่ต่ำลงเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่มักใช้การตลาดนำเพลงมากกว่าเดิมและที่เห็นได้ชัดคือตอนนี้เพลงส่วนใหญ่ใช้วิธีขายออนไลน์กันหมด สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการออกแบบของคุณมากดังนั้นตอนนี้พวกเราเลยค่อนข้างที่จะรับงานที่ทำให้วงการเพลงเฉพาะที่พวกเรารู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรที่พิเศษได้เท่านั้น

WV: งานออกแบบปกซีดีส่วนใหญ่ของคุณก็มาจากลูกค้าเก่าๆทั้งนั้นเลยสิ

MF: ใช่ผมทำงานกับลูกค้าแต่ละรายนานมากลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีชื่อเสียงมายาวนานผมค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ด้านการงานที่ยืนยาวกับคนที่ผมทำงานด้วย

Read the rest of this entry »

Workshop กับ คิดดี โปรเจกต์

March 19th, 2009

เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเป็นวิทยากรใน workshop เรื่องกราฟิกดีไซน์สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ สำหรับโครงการ คิดดี โปรเจกต์ โดย สสส. ร่วมกับ art4d จัดขึ้น (ผมเข้าร่วมในนามของ art4d)

กลุ่มเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีตั้งแต่เด็กม. 4 จนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยปีต้นๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการศึกษาด้านการออกแบบมาโดยตรง แต่มีความสนใจและตั้งใจทำงานมากกว่านักศึกษาด้านการออกแบบบางกลุ่มเสียอีก งานนี้วิทยากรทั้งสามคน คือ คุณมงคล พงศ์อนุตรี, คุณปิยพงศ์ ภูมิจิตร จาก art4d และตัวผมเอง เห็นพ้องต้องกันว่าผลงานออกมาดีอย่างน่าประหลาดใจ นอกจากนั้นยังมีเด็กม.ปลายบางคนที่มีแนวความคิดแหวกๆ และมีเซนส์ทางการจัดองค์ประกอบดีอย่างไม่น่าเชื่อ

ส่วนตัวแล้วรู้สึกดีไปกับเด็กๆ ที่มีโอกาส และยินดีที่มีส่วนได้ช่วยให้ความรู้แก่เยาวชนอีกช่องทางหนึ่ง นอกเหนือจากงานสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย ทั้งนี้อยากให้สสส. หันมาเน้นการจัดกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่กลุ่มเยาวชนโดยตรง น่าจะเห็นผลชัดเจนกว่าการทุ่มงบโฆษณารณรงค์รงค์เรื่องต่างๆ ในวงกว้าง

ชมภาพเพิ่มเติม 17/3, 18/3