Wired Magazine – iPad Edition

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร art4d ฉบับที่ 172 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553

Wired Magazine – iPad Edition
June 2010
Conde Nast Digital

ความพยายามในการใช้สื่อดิจิทัลมาทดแทนสิ่งพิมพ์ในรูปแบบหนังสือนั้นมีมานานมากแล้ว คำว่า e-book เริ่มปรากฏในสื่อมาไม่น้อยกว่า 10 ปีและกระจัดกระจายอยู่บนอินเตอร์เน็ตจนถึงอุปกรณ์พกพาต่างชนิด ไม่เว้นแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่ในลักษณะที่พยายามจะเลียนแบบหนังสือเล่มให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยยกหน้าของหนังสือเล่มมาวางไว้บนหน้าจอให้พลิกอ่านได้ ทั้งยังใส่เสียงพลิกหน้ากระดาษเพื่อเลียนแบบประสบการณ์จากเทคโนโลยีเก่าให้ถึงที่สุด จนถึงลักษณะที่เป็นข้อความล้วนๆ บนหน้าจอขาวดำของอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่มีความสามารถในการแสดงผลจำกัด แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถทำให้ e-book เข้ามาเป็นรูปแบบหลักของการบริโภคข่าวสารแทนที่หนังสือเล่ม จนกระทั่งในช่วง 2-3 ปีมานี้เองที่ความพร้อมของปัจจัยหลายอย่างเริ่มมาบรรจบกัน ด้วยปริมาณของข้อมูลที่ถูกนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลที่มีมากขึ้นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้การส่งต่อข้อมูลสะดวกขึ้น อุปกรณ์พกพาที่มีความสามารถดีขึ้นและให้ประสบการณ์การอ่านใกล้เคียงการถือหนังสือเล่มมากขึ้น รวมทั้งความพร้อมของสิ่งพิมพ์ และวารสารประเภทต่างๆ ในการปรับตัวเข้าสู่ระบบการจัดจำหน่ายสื่อดิจิทัลเพื่อรองรับอุปกรณ์เหล่านั้น

หนึ่งในตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้คือการมาถึงของ iPad ที่ทำให้นิตยสารหลายเล่มต้องปรับตัวหาทางวางจำหน่ายฉบับดิจิทัลให้ได้เป็นรายแรกๆ ในตลาดใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสนี้ ด้วยความใหม่ของประสบการณ์การรับสื่อในอุปกรณ์ประเภท tablet computer ซึ่งรองรับการโต้ตอบแบบ multi touch ทำให้ผู้ผลิตสื่อต้องคิดหาวิธีนำเสนอที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ บางรายเลือกที่จะยกหน้ากระดาษมาไว้บนหน้าจอโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย บางรายมองวิธีการนำเสนอเป็นรูปแบบหน้าเว็บ ไม่แปลกที่หลายรายไม่ประสบความสำเร็จในการออกแบบเพราะยังจับจุดไม่ได้ว่าประสบการณ์ที่ดีบนอุปกรณ์ชนิดนี้คืออะไร

แล้วใครต่อใครก็ต้องแปลกใจ เมื่อ Wired นิตยสารด้านเทคโนโลยีที่อยู่คู่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกและอินเตอร์เน็ตมาตลอดเข้ามาเล่นในตลาดนี้กับเขาด้วย แม้จะไม่ได้เป็นรายแรกที่เข้ามาทำตลาดบน iPad แต่ถึงจะมาช้ากว่า ก็ไม่ได้ทำให้ใครผิดหวัง เพราะฉบับแรกของนิตยสารWired สำหรับ iPad ที่ออกในเดือนมิถุนายนนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า Wired ไปทำการบ้านมาดีกว่าใคร ความเข้าใจธรรมชาติของอุปกรณ์ประเภทนี้ได้ถูกสะท้อนออกมาในหลายๆ แง่มุมด้วยกัน

อย่างการลำดับเนื้อหาภายในเล่มหรือ structure และ navigation system นอกจากการมี hyperlink ให้กระโดดข้ามไปยังเนื้อหาส่วนที่ต้องการได้จากสารบัญ หรือการลิงค์ไปยังหน้าเว็บภายนอกแล้ว Wired ยังมี navigation system ที่ไม่ได้เป็นการเลื่อนหน้าไปทีละหน้าในทิศทางซ้าย-ขวา แต่ใช้การเลื่อนซ้าย-ขวาเพื่อไปยังคอลัมน์ถัดไป และได้เพิ่มการเลื่อนขึ้นลงเพื่อเป็นการอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมในคอลัมน์เดียวกัน และมีการใช้ตัวเลขหัวข้อให้กดเพื่ออ่านเนื้อหาในข้อนั้นๆ ภายในหน้าเดิม กับภาพประกอบชุดเดิม หากใครได้ลองอ่านนิตยสารอื่นในฉบับดิจิทัลมาบ้างแล้วจะเห็นว่านิตยสารหัวอื่นๆ มีการใช้วิธีการอื่นในการวางโครงสร้างของเนื้อหา และ navigation ภายในเล่ม แต่ละวิธีการก็มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น BMW magazine มี navigation system ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่าและผูกติดกับรูปร่างของหนังสือเล่มน้อยกว่า แต่อาจจะไม่เหมาะกับเนื้อหาบางลักษณะที่เริ่มต้นออกแบบเพื่อถูกตีพิมพ์เป็นเล่ม ณ ตอนนี้ยังยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าวิธีการของ Wired ซึ่งคล้ายกับนิตยสารอีกหัวที่ได้ออกฉบับ iPad มาก่อนสักพักหนึ่งแล้ว คือ Time จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่

สำหรับในเรื่องของ design และ layout เนื้อหาของ Wired ฉบับ iPad ถูกจัดหน้าให้รับกับหน้า iPad โดยไม่เคร่งครัดว่าจะต้องเหมือนกับฉบับกระดาษ และไม่ว่าจะหมุนเครื่องไปแนวตั้งหรือแนวนอน ทุกสิ่งในหน้าจอ ทั้งข้อความ ภาพ และองค์ประกอบอื่นๆ ก็จะจัดเรียงใหม่ให้ลงตัวรับกับหน้าจอเสมอ แม้แต่การจัดวางตัวอักษรก็ทำให้มีขนาดพอเหมาะกับระยะการมองที่ผู้อ่านต้องถือ iPad เหมือนถือหนังสือเล่มหนึ่ง ณ ตอนนี้อาจจะยังมีสัญลักษณ์ที่คอยบอกใบ้ (visual clue) ว่า “มีเนื้อหาให้อ่านต่ออีกทางด้านล่าง” อยู่ค่อนข้างมาก เช่น การใช้แถบสีที่ลากยาวต่อเนื่องไปยังหน้าถัดไป หรือลายริ้วในบริเวณด้านข้างของหน้าจอ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ interface ของ iPad, หรือถ้าจะพูดให้ครอบคลุม คือ ระบบปฏิบัติการ iOS ของอุปกรณ์พกพาจาก Apple, ไม่มี scroll bar ให้เห็นอยู่ทีข้างขวาของหน้าต่าง แบบที่เราคุ้นเคยกับในการใช้งานคอมพิวเตอร์

อีกความสามารถหนึ่งที่ถูกใช้เต็มที่ใน Wired คือเรื่องของ ‘interaction’ หรือความเป็นสื่อที่ผู้อ่านสามารถโต้ตอบได้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียง วิดีโอหรือวัตถุสามมิติ หลายครั้งที่องค์ประกอบพิเศษนี้ช่วยในการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และเห็นลำดับขั้นตอนชัดเจน เช่น แผนภูมิสามมิติประวัติการสำรวจดาวอังคารที่ผู้อ่านสามารถจับหมุนได้, flip book ที่ใช้นิ้วลากได้ เป็นต้น ซึ่งนอกจากเนื้อหาหลักของนิตยสารแล้ว สินค้าและบริการหลายรายที่ลงโฆษณาใน Wired ฉบับดิจิทัลก็ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้มาก แต่ก็เช่นเดียวกับ navigation system ที่ต้องการพึ่งตัวช่วย(visual clue) เป็นสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างใหญ่ เพื่อชดเชยกับปัญหาที่ผู้อ่านอาจจะไม่รู้ว่าตรงไหนบ้างที่จะมีการตอบสนองต่อการสัมผัส

เขียนไล่ข้อดีให้อ่านมาตั้งนาน หันมามองข้อเสียกันบ้างดีกว่า เรื่องใหญ่เรื่องแรกคือ ขนาดไฟล์กว่า 500 MB ที่ใหญ่โตจนน่าสงสัย แม้ว่าจะไม่เป็นภาระในการดาวน์โหลดสำหรับเน็ทแรงๆ ในสมัยนี้ แต่ถ้ามองว่า iPad รุ่นความจุน้อยที่สุดคือ 16GB สามารถเก็บนิตยสารได้แค่ 32 ฉบับ จะเป็นการขัดแย้งกับความรู้สึกว่า iPad คือตู้หนังสือเคลื่อนที่ เหมือนกับที่ iPod เปิดตัวในฐานะเป็นตู้เพลงเคลื่อนที่ พร้อมกับสโลแกน “1,000 songs in your pocket” ที่น่าตื่นตะลึงเสียเหลือเกิน แม้ว่าโหลดมาอ่านแล้วจะเข้าใจว่าขนาดไฟล์ 500 MB นั้นมาจากคลิปวีดีโอ, โมเดลสามมิติ และลูกเส่นสารพัดอีกหลายอย่างก็ตาม แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่าเป็นโฆษณาไปซะ 200 MB หรือเปล่า? ส่วนเรื่องที่สองคือราคา 4.99 เหรียญสหรัฐต่อฉบับ แม้จะถูกกว่าราคาขายบนแผงนิตยสารหัวนอกในบ้านเราอยู่กว่าครึ่ง แต่ก็ยังจัดว่าแพงกว่าราคาสมัครสมาชิกอยู่อีกหลายเท่า แต่ดูเหมือน Wired จะปรับตัวได้ทันท่วงที เพราะฉบับเดือนกรกฎาคมที่เพิ่งออกมา มีขนาดไฟล์เล็กลงเหลือประมาณ 300 MB และ ราคาลดลงเหลือ 3.99 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ยังไม่มีวี่แววของอัตราราคาสมัครสมาชิกแต่อย่างใด

เบื้องหลังของ Wired ฉบับ iPad นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Conde Nast กับ Adobe ซึ่งฝ่ายหลังได้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นส่วนหนึ่งของ Adobe Digital Publishing Platform ซึ่งกำลังถูกโปรโมทอย่างหนักในขณะนี้ และพอจะเดาได้ว่าเมื่อระบบดังกล่าวสมบูรณ์แล้ว นิตยสารในเครือ Conde Nast ทั้งหมด น่าจะหันมาใช้เครื่องมือเดียวกันนี้ ทำให้ประสบการณ์การอ่านนิตยสารบน iPad เหมือนกันไปทั้งหมดจนไม่มีความแตกต่าง ผู้พัฒนาและสำนักพิมพ์รายอื่นก็อาจจะหันมาหา platform ที่มีอยู่แล้วและใช้กันเกร่อ จนหมดความพยายามในการสร้างสรรค์วิธีใช้งานสื่อใหม่นี้อย่างเหมาะสมที่สุดก็ได้

ในอดีตเมื่อครั้งเว็บยังเป็นสิ่งใหม่ นักออกแบบจำนวนไม่น้อยพยายามนำหลักการและสุนทรียะในการออกแบบสิ่งพิมพ์ไปใช้กับงานออกแบบเว็บ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทางเทคโนโลยี เช่น ความละเอียดคมชัดของจอภาพ คุณลักษณะของพื้นที่แสดงข้อมูลที่แตกต่างกันระหว่างหน้าจอกับกระดาษ ระยะการมองอันเหมาะสมที่แตกต่างกัน และธรรมชาติของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับสื่อที่ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับ iPad และนิตยสารดิจิทัลบนอุปกรณ์ประเภทเดียวกันอีกมากมายที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้ เส้นแบ่งระหว่างงานสิ่งพิมพ์ (print) กับงานออกแบบบนหน้าจอ (screen based) เริ่มถูกทำให้เลือนลางลงทุกที ด้วยคุณภาพของจอภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบาลงทุกทีๆ และยังมีระยะการมองที่เหมาะสมเท่ากับระยะการอ่านหนังสือเล่มเล็กสักเล่ม เราอาจจะมองว่าการออกแบบนิตยสารฉบับดิจิทัลสำหรับ iPad คือการออกแบบหน้าเว็บด้วยหลักการเดียวกับการออกแบบสิ่งพิมพ์ก็ได้

เมื่อเทคโนโลยีพร้อม, ข้อมูลพร้อม, ช่องทางการจัดจำหน่ายพร้อม และผู้อ่านพร้อม อนาคตที่หน้าจอสัมผัสจะมาแทนที่กระดาษ อาจจะอยู่ใกล้กว่าที่หลายคนคิด

นอกจากบทความนี้แล้ว ผมยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ iPad และ digital magazine ไว้เป็นคลิปเสียงที่ dualGeek podcast

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.