ผลงานออกแบบของตัวเองที่ชอบที่สุดในชีวิต

ในการทำงานสอนของผม ผมจะเริ่มเทอมใหม่ด้วยการทำความรู้จักนักศึกษาในฐานะนักออกแบบ นั่นคือให้ทุกคนนำผลงานของตัวเองที่ชื่นชอบที่สุดมาเล่าให้ฟัง การทำความรู้จักกันด้วยวิธีนี้เป็นประโยชน์กับตัวผู้สอนอย่างมากในการจับประเด็นความสนใจและทักษะของนักศึกษา เพื่อจะได้ชี้แนะและผลักดันแต่ละคนไปได้ถูกทาง

แน่นอนว่าตัวอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องเปิดใจ เล่าเรื่องงานของตัวเองให้ฟังด้วย และทุกครั้ง ผมจะเลือกงานชิ้นนี้ขึ้นมาเล่าให้นักศึกษาฟัง ซึ่งมันไม่ใช่งานที่ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่ไหน ไม่ใช่งานที่ใครใครก็เคยรู้จัก เป็นงานที่ไม่ได้ทำขึ้นมาในฐานะนักออกแบบด้วยซ้ำ แต่เป็นงานที่ทำขึ้นตอนยังเป็นนักเรียนม.ปลาย มันคือปกของ “สาธิตานุสรณ์” หนังสือรุ่นของโรงเรียนมัธยมสาธิต มศว. ประสานมิตร


ย้อนกลับไปในปีพ.ศ. 2538, ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยเห็นภาพชัดเจนว่าอาชีพนักออกแบบกราฟิกคืออะไร มีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ผมเป็นนักเรียนม.ปลายที่มีทักษะทางศิลปะ ประมาณว่าดรออิ้งเก่งหน่อย วาดการ์ตูนได้ เขียนสีน้ำได้แต่ไม่สวย กำลังศึกษางานออกแบบสื่อสารจากปกอัลบั้มของวงโปรเกรสสีฟร็อคยุค ’70s ที่คุ้ยเจอในกรุเพลงของคุณพ่อคุณแม่ มองไม่เห็นอนาคตของชีวิตที่ไกลกว่าการตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเอ็นท์ติด อยากได้เรียนศิลปะ/ออกแบบ และกำลังอยากเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพ โดยบอกกับที่บ้านไว้ว่าถ้าเอ็นท์ติดจะขอของขวัญเป็นกล้อง SLR สักตัว

สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนเหมือนสมัยนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะมีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ยิ่งความคิดจะนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะหรืองานออกแบบยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลตัวเหลือเกินสำหรับนักเรียนม.ปลายทั่วไป ตอนนั้นมีเพื่อนที่มีความสามารถบางคนใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำแพทเทิร์นการแปรอักษร มีบางคนใช้พิมพ์ตัวอักษรหลากแบบมาทำเป็นชื่อแกงค์รถซิ่ง การทำหนังสือรุ่นจึงเป็นการตัดแปะด้วยมือ ก่อนส่งอาร์ทเวิร์คตัวอย่างไปให้ทางโรงพิมพ์/ร้านแยกสี ทำต่อเป็นไฟล์ดิจิทอล

ด้วยความที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ หลายครั้งที่การบอกว่า “งานนี้ใช้คอมพิวเตอร์ทำ” กลายเป็นจุดขายที่ทำให้ใครต่อใครตื่นเต้นและชื่นชม มากกว่าการมองที่ตัวผลงานเอง เมื่อผมได้รับโอกาสที่จะทำปกหนังสือรุ่น มีบางเสียงถามมาว่า “จะใช้คอมพิวเตอร์ทำหรือเปล่า?” เพราะว่าปกของหนังสือรุ่นปีก่อนหน้านั้น เป็นภาพตึกโรงเรียนที่ถูกรีทัชให้ลอยอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มซึ่งมีปุยเมฆพุ่งกระจาย ตรากราฟ สัญลักษณ์ของโรงเรียนเป็นภาพสามมิติผิวโครมแบบคนเหล็กภาคสอง ตัวอักษรเลขปีก็เป็นภาพสามมิติ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ใครหลายคน แต่โดยส่วนตัวผมกลับไม่ได้ปลื้มปกนั้นเท่าไหร่ เพราะไม่ได้รู้สึกว่ามีความพิเศษในเนื้อหาใดๆ “ใช้คอมทำไม่ได้หรอก เพราะบ้านเรายังไม่มีคอม” จึงเป็นคำตอบแบบตรงไปตรงมาของผมในตอนนั้น ผมไม่เชื่อว่าการใช้คอมพิวเตอร์สร้างงานจะเป็นคำตอบของทุกอย่าง …แล้วจะทำปกออกมาอย่างไรล่ะ?

ผมเริ่มมองหาเรื่องราวที่จะเป็นเรื่องเฉพาะของเด็กสาธิตประสานมิตรรุ่นนี้เท่านั้น จนจับประเด็นได้ว่าตอนนั้นมีเรื่องสะเทือนใจกำลังจะเกิดขึ้น คือการทุบอาคารเรียนหลายหลังเพื่อสร้างอาคารใหม่ ความคิดที่ว่าเมื่อเรียนจบไปก็จะไม่มีโอกาสเห็นตึกเรียนที่ผูกพันอีกแล้วเป็นเรื่องชวนใจหายสำหรับผมและเพื่อนๆ หลายคน และอีกประเด็นที่สำคัญคือ หนังสือรุ่นนี้จะพิมพ์เสร็จหลังจากเรียนจบไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะได้รับกันเมื่อกลับมาเยี่ยมโรงเรียนในวันไหว้ครู และสำหรับหลายคนที่ไม่ได้มา หนังสือเล่มนี้จะถูกส่งตามไปที่บ้าน ดังนั้นหนังสือรุ่นเล่มนี้คือ “ความเป็นโรงเรียนของเรา เป็นความทรงจำของรุ่นเราที่ส่งมาจากโรงเรียน”

ผมคุ้ยคลังรูปถ่ายของตัวเอง จนได้ภาพทางเดินที่กำลังจะถูกทุบมาเป็นจุดรวมสายตา แปะมันลงบนกระดาษแข็ง หยิบกระดาษปรูฟออกจากกระดานดรออิ้งมาห่อมันไว้ ก่อนจะห่อทับอีกชั้นด้วยกระดาษน้ำตาลแบบห่อพัสดุ หาเชือกมาผูก ตัดรูปถ่ายตึกเรียนพร้อมสนามบอลมาแปะลงบนกรอบแสดมป์ วิ่งไปขอตรายางจากห้องธุรการ แล้วค่อยๆ บรรจงฉีกห่อพัสดุนั้นออกเพื่อเปิดให้เห็นรูปถ่ายข้างใน

หลังจากผ่านการตกแต่งอีกเล็กน้อย ผลสำเร็จที่ได้มาคือปกหนังสือนี้

ส่วนปกหลัง เป็นภาพที่ถ่ายสนามฟุตบอลที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมในเช้าวันหนึ่ง มีแสงแดดไล้ขอบถุงปุ๋ยสวยงาม

ส่วนสันหนังสือ ตอนแรกเลือกอักษรขูดมาทำแล้ว แต่สุดท้่ายจบลงที่ทางโรงพิมพ์เลือกให้ แล้วแปะลงในคอมเลย

ผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพื่อนๆ ชอบ อาจารย์ชม ตัวผมเองก็พูดได้เต็มปากว่า “โคตรชอบงานตัวเองชิ้นนี้เลยว่ะ” แม้ว่าจะมีจุดผิดพลาดที่เห็นได้ชัดคือการเผื่อขนาดของกระดาษต้นฉบับไม่มากพอ ทำให้เห็นปลายเชือกกุดๆ อยู่ด้านข้างเสียอย่างนั้น

สิบกว่าปีผ่านไป… ทุกวันนี้เวลาผมทำงานเสร็จ ความสำเร็จของงานจะถูกประเมินโดยตัวแปรสามด้าน คือ ลูกค้าต้องแฮปปี้, ดีไซเนอร์ต้องแฮปปี้ และ กลุ่มเป้าหมายต้องแฮปปี้ บางครั้งผลงานออกมาแล้วลูกค้าปลื้ม แต่ดีไซเนอร์ไม่ค่อยภูมิใจ บางครั้งลูกค้าและดีไซเนอร์ปลื้มทั้งคู่ แต่กลุ่มเป้าหมายบอกว่าไม่โดน ก็ถือว่าไม่สำเร็จ นานนานทีถึงจะมีงานที่ทำให้แฮปปี้กันได้ทั้งสามฝ่าย ซึ่งผมเชื่อว่างานปกหนังสือรุ่นนี้เป็นหนึ่งในกรณีหายากดังกล่าว

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ มันเป็นผลงานที่เกิดจากเจตนาบริสุทธิ์ที่เพื่อนตั้งใจทำให้เพื่อน ไม่ได้ตั้งใจจะทำเพื่อเงิน, ไม่ได้ทำเพื่อเอารางวัล, ไม่ได้ทำเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว หรือต้องการปล่อยของ เป็นงานที่ทำโดยเครื่องมือเท่าที่มี คอมก็ไม่มีให้ใช้ กล้องถ่ายรูปก็เป็นกล้องฟิล์มป๊อกแป๊ก เป็นรูปที่ไม่ได้ตั้งใจเซ็ทถ่ายใหม่ ไม่มีสต็อคโฟโต้ ตัวอักษรก็ตัดแปะจากนิตยสารโดยไม่มีความรู้เรื่องศิลปะการใช้ตัวพิมพ์ ผมแค่สร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมาบนแผ่นกระดาษแข็งแล้วหิ้วไปบอกอาจารย์ว่า “นี่คือแบบปก” ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระดาษแข็งแผ่นนั้นจะถูกนำไปถ่ายลงฟิล์มสไลด์ด้วยกล้องมีเดียม

บางครั้งผมก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ทำงานมาร่วมสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังภูมิใจและพอใจกับงานที่ตัวเองทำสมัยเป็นนักเรียนอยู่ น่าจะเป็นเพราะผมให้คุณค่าของงานที่เจตนาและกระบวนการ ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ และนี่คือผลลัพธ์ของเจตนาและกระบวนการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้วกับตัวผมเอง มันจึงมีคุณค่าทางใจมากกว่าผลงานบางชิ้นที่ใครๆ ก็เห็นมันอยู่ทุกวันบนท้องถนนเสียอีก

ขอบคุณเพื่อนๆ สาธิตประสานมิตรทุกคน และอาจารย์ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมให้เกิดงานชิ้นนี้ รวมทั้งความทรงจำและความรู้สึกดีๆ ที่ปกหนังสือเล่มนี้ยังมอบให้ผมได้ทุกครั้งที่ได้มองเห็นมัน

3 Responses to “ผลงานออกแบบของตัวเองที่ชอบที่สุดในชีวิต”

  1. อิชั้นอยากทราบว่า ท่านไม่ใช่คอมเลยหรือ แล้วตรงแสตมป์ทำอย่างไร คือสรุปว่าออฟเซทแล้วเอารูปแปะกระดาษไขส่งโรงพิพม์??? แต่เราชอบมากนะ ตอนได้ยังเจ็บใจเลยว่า เค้าไม่ได้อยู่ม.หก อดทำเลยยยย แค้น อะไรประมาณนั้น ที่จริงการที่ไม่ได้เรียนม.หก ทำให้เราพลาดอะไรไปเยอะอยู่เหมือนกัน ทั้งโดนลงบ่อปลาแร่ด ไปสัมนา งานfarewellเรายังไม่ได้ไปเลย คุ้มค่ากันคนละแบบนะ ขอบคุณที่ทำหนังสือรุ่นสวยๆให้พวกเรานะวีร์

  2. ด้วยความยินดีจ้ะนิก

    แสตมป์นี่ก็ซื้อสแตมป์มาหนึ่งดวง แล้วตัดรูปถ่ายใบเล็กๆ ให้ได้ขนาดพอดีกัน แปะทับลงไปดื้อๆ อย่างนั้นเลย ถ้าจำไม่ผิดไปอัดรูปขนาด 2P, 4P มาใช้ในงานนี้ด้วย ความพยายามเหลือล้นจริงๆ

    ข้างในยังมีบางส่วนที่ทำด้วยพลังถึกของการตัดแปะอีกนะ เดี๋ยวจะมาพูดถึงต่อในโอกาสหน้า 😉

  3. ยุคนั้นตัดแปะมันอินมากก เหมือนเขียนหนังสือกลอนด้วยลายมือคิขุอะไรประมาณนี้เลย เรากลับไปเปิดดูแล้วหล่ะ ถึกมากกกกกกกก 5555

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.