Graphic design = . . .

pecha kucha bkk 6เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2552 มีโอกาสได้ไปร่วม “ปล่อยของ” ในงาน Pehca Kucha Night Bangkok ครั้งที่ 6 ที่สยาม ดิสคัฟเวอรี่ เซนเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย” จึงขอนำสไลด์ของตัวเองมาแบ่งปันให้ดูและบันทึกเนื้อหาไว้ที่นี่

โจทย์คราวนี้บังคับมาว่า “graphic design = . . .” ผมได้นั่งถกกับน้องๆ ที่ทำงานด้วยกัน ถึงปรัชญาในการทำงานของแต่ละคน เรียบเรียงออกมาเป็นประเด็นหลักสามข้อที่เราเห็นพ้องกันว่าควรจะเป็นสิ่งที่ยึดถือร่วมกันในการทำงานของ conscious สตูดิโอของเรา แล้วนำมาวิเคราะห์พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากกรณีศึกษา ดังนี้

Pecha Kucha.002

1. กราฟิกดีไซน์สำหรับผมคือการออกแบบสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา แล้วเกิดการอ่าน
การอ่านในที่นี้ไม่ได้แปลว่าอ่านตัวหนังสือ แต่เป็นการตีความจากสิ่งที่ตารับรู้ ซึ่งมันอาจจะเป็นภาพ สัญลักษณ์ สี การจัดองค์ประกอบ หรือข้อมูลอื่นใดก็ตาม

Pecha Kucha.003

2. การออกแบบนี้จะต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาในการสื่อสาร
กราฟิกดีไซน์ต้องช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากความพยายามสื่อสารข้อมูลอะไรบางอย่างให้ผู้รับสารได้เข้าใจ โดยมีประสิทธิภาพสูงสุด เข้าใจง่ายที่สุด ในเวลาที่สั้นที่สุด

Pecha Kucha.004

3. นอกจากการแก้ปัญหาแล้วยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
ตัวงานต้องไปดำรงอยู่ในบริบทที่ตั้งใจได้อย่างไม่แปลกแยก และต้องไม่ขัดแย้งกับพื้นฐานการรับรู้ของผู้รับสาร กล่าวคือ วิธีการแก้ปัญหาของงานชิ้นหนึ่ง อาจไม่สามารถใช้กับงานอีกชิ้นหนึ่งได้ถ้าไม่มีความเหมาะสม

Pecha Kucha.005

4. แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วย
ต่อให้เป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสม การทำให้งานมีความโดดเด่น จับใจ ไม่แห้งแล้ง ต้องเติมความจินตนาการและคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วย

Pecha Kucha.006

5. กรณีศึกษาแรก “ห้องน้ำ”
ขอยกตัวอย่างงานออกแบบกราฟิกในชีวิตประจำวันสักสามตัวอย่าง เริ่มต้นด้วย การชี้บ่งหน้าที่ใช้สอยของ “ห้องน้ำ” แค่ภาษาไทยภาษาเดียว ก็มีคำที่ใช้แทนห้องน้ำได้หลายคำแล้ว และบางครั้งเราต้องสื่อสารให้คนจากต่างวัฒนธรรมเข้าใจว่า “นี่คือห้องน้ำ”

Pecha Kucha.007

6. มนุษย์ห้องน้ำ – สัญลักษณ์สากล
กราฟิกดีไซน์จึงเข้ามาแก้ปัญหา โดยการสร้างสัญลักษณ์ที่เข้าใจร่วมกันขึ้นมา โดยเราเลือกที่จะใช้สัญลักษณ์แทนเพศชายและหญิงมาทำหน้าที่นี้ ไม่ได้ใช้สัญลักษณ์แทนกิจกรรม อาจจะเพราะว่ามันดูไม่เจริญตา และนี่คือตัวอย่างของการแก้ปัญหาแบบง่ายที่สุด สามัญที่สุด

Pecha Kucha.008

7. สัญลักษณ์ห้องน้ำที่เหมาะสม
จากนั้นการแก้ปัญหา จึงถูกพัฒนาให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น ภาพที่แสดงอยู่คือสัญลักษณ์บนประตูห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านพาหุรัด มนุษย์ห้องน้ำที่มีความเป็นสากล ถูกดัดแปลงให้เข้ากับบริบททางวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการแต่งตัว (สังเกตว่าคุณผู้หญิงใส่ส่าหรีแล้วดูหุ่นดีขึ้น)

Pecha Kucha.009

8. สัญลักษณ์ห้องน้ำที่สร้างสรรค์
นอกเหนือจากนั้น จึงเป็นหน้าที่ของความคิดสร้างสรรค์ ที่จะตีความการใช้สัญลักษณ์แทนเพศชายและเพศหญิง ได้แตกต่างกันไปในความเป็นไปได้อีกนับไม่ถ้วน

Pecha Kucha.010

9. กราฟพลังของป้ายห้องน้ำ
จะเห็นว่า การที่กราฟิกดีไซน์เข้ามาแก้ปัญหาง่ายๆ อย่างการชี้บ่งว่า “นี่คือห้องน้ำ” นั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

Pecha Kucha.011

10. กรณีศึกษาที่สอง กราฟิกดีไซน์กับการจัดการข้อมูลของป้ายเมนูร้านน้ำ
การจัดการข้อมูลที่เป็นรายการ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ทั่วไป ตัวอย่างแรกคือป้ายบอกรายการเครื่องดื่มของร้านขายน้ำแห่งหนึ่ง เราจะมองเห็นความสับสนของข้อมูล ไม่รู้จะอ่านตรงไหนก่อน

Pecha Kucha.012

11. ความพยายามในการจัดการข้อมูล
ในขณะที่ร้านขายน้ำบางที่ พยายามจัดระเบียบข้อมูลให้เข้าใจง่าย มีโครงสร้างที่เป็นระบบ และมีการตกแต่งเพื่อความสวยงาม

Pecha Kucha.013

12. การใช้สีในการจัดการข้อมู
ส่วนร้านน้ำแห่งนี้ ที่อยู่ริมถนนซึ่งผมต้องผ่านทุกครั้งเวลาลงจากรถไฟฟ้าแล้วเดินเข้าออฟฟิศ พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยการใช้สีที่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ขายอยู่ เช่น โอเลี้ยงสีดำ น้ำสับปะรดสีเหลือง แม้แต่สีเขียวที่แตกต่างกันของชาเขียว กับชาเขียวใส่นม ก็ยังถูกแยกแยะอย่างค่อนข้างชัดเจน

Pecha Kucha.014

13. ความคิดสร้างสรรค์ในงานออกแบบกราฟิก ใครก็มีได้
นี่คือตัวอย่างของการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาจัดการข้อมูล โดยผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพนักออกแบบกราฟิก กล่าวได้ว่า การออกแบบกราฟิก เป็นกิจกรรมหนึ่งที่คงอยู่ในชีวิตประจำวัน ตลอดเวลาที่มีการสื่อสารที่รับรู้ได้ด้วยตา

Pecha Kucha.015

14. กราฟพลังของป้ายเมนูร้านน้ำ
ดังนั้น สำหรับการออกแบบเพื่อแสดงรายการข้อมูลในกรณีที่ยกมานี้ การแก้ปัญหา และความเหมาะสม มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน แต่ความคิดสร้างสรรค์ ก็ทำให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้น น่าสนใจขึ้นได้ โดยไม่ต้องคิดให้มันซับซ้อนเกินจำเป็น

Pecha Kucha.016

15.  กรณีศึกษาที่สาม กราฟิกดีไซน์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สำหรับที่ซึ่งเป็นเหมือนประตูบานแรกในการต้อนรับชาวต่างชาติเข้าสู่บ้านของเรา การออกแบบกราฟิกในการนำทางการสัญจรของผู้คนจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่การเดินทางมายังสนามบิน จากทุกทิศทางในประเทศไทย จนถึงการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในสนามบิน ที่ต้องรองรับผู้โดยสารจำนวนนับสิบล้านคนต่อปี

Pecha Kucha.017

16. ระบบป้ายในสุวรรณภูมิ ไม่ช่วยแก้ปัญหา
งานออกแบบระบบป้ายนำทางและสัญลักษณ์ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการจัดการประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารได้ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยเจอปัญหาหาห้องน้ำไม่เจอจนต้องิดป้ายหลายอันเหลือเกิน นี่ยังไม่นับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

Pecha Kucha.018

17. ระบบป้ายในสุวรรณภูมิ ไม่เหมาะสม
แม้จะมีการพยายามนำความเป็นไทยแบบประเพณีนิยม เข้าไปสอดแทรกในอาคารที่เป็นการออกแบบสมัยใหม่ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างภาพรวมของสถานที่ ให้เกิดความเป็นไทยแบบร่วมสมัยที่โดดเด่นขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น เอาภาพลายไทยรูปทวารบาลมาติดตรงประตู แต่ก็ดันเอาป้ายกระดาษมาแปะทับซะงั้น นี่ยังไม่นับอีกหลายจุดที่มีกระดาษ A4, A3 เกลื่อนกลาด เกะกะสายตาไปหมด

Pecha Kucha.019

18. ระบบป้ายในสุวรรณภูมิ ไม่สร้างสรรค์
น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการคิดระบบสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่เพื่อสถานที่แห่งนี้โดยเฉพาะ สัญลักษณ์ภาพส่วนใหญ่ นำมาจากชุดสัญลักษณ์ของกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ที่มีอายุกว่าสามสิบปี

Pecha Kucha.020

19. กราฟพลังของงานกราฟิกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
น่าเสียดาย และน่าเศร้า ที่สถานที่ซึ่งเป็นเหมือนประตูหน้าสู่ประเทศไทย ไม่ไดนำการออกแบบกราฟิกไปช่วยแก้ปัญหาในการให้ข้อมูล ไม่มีการสร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะสม และขาดความคิดสร้างสรรค์ ในบางประเทศ แค่เราอยู่ในสนามบินก็รู้แล้วว่างานกราฟิกของเขามีคุณภาพ แล้วนี่มันสะท้อนถึงอะไร?

Pecha Kucha.021

20. สรุป
การออกแบบกราฟิก คือการออกแบบสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตาแล้วเกิดการตีความ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาและความเหมาะสม และถูกส่งเสริมด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อทำให้การสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ไปนั่งฟังการนำเสนอของผมในวันนั้น และหวังว่าเนื้อหานี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ

2 Responses to “Graphic design = . . .”

  1. เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับความคิดเห็นเกี่ยวกับงานกราฟิกที่สนามบินสุวรรณภูมิครับ–ไม่ไหวจะเคลียร์จริงๆ 😛

  2. มองเห็นภาพ และเข้าใจได้ง่ายมากเลยครับ ขอบคุณมากครับสำหรับการแบ่งปันครั้งนี้

    ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมฟังวันนั้น เสียดายจริงๆ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.