พี่สอนน้องสร้างภาพ

IMG_0221

เมื่อวันที่ 20 มิถูนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปพูดที่นิทรรศการ “สร้างภาพ” (Visual Constructor) ซึ่งเป็นการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขา Visual Communication Arts มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พร้อมกับแขกรับเชิญอีกท่านคือพี่เคล, เคลวิน หว่อง จาก K Kelvin Studio, แขกไม่ได้รับเชิญที่เดินห้างอยู่ก็เข้ามาแจมซะงั้น คือ พี่จิ๊ด พิชิต วีรังคบุตร ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และอาจารย์ของที่นั่นอีกคน คือ คุณแต๊ป วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ จาก graphicfarm

เนื้อหาที่คุยกันเป็นเรื่องกว้างๆ คือการให้คำแนะนำกับน้องๆที่จบใหม่ ว่าจะไปพบเจออะไรในการประกอบวิชาชีพสายกราฟิกดีไซน์ ตอนแรกบางคำถามที่นักศึกษาส่งมาให้ดูก่อนนั้นตอบยากมาก แต่สุดท้ายก็ปรับรูปแบบมาเป็นการนั่งคุยกันแบบไม่ต้องมีพิธีรีตรอง แบบพี่สอนน้องไป คิดดูแล้วก็น่าใจหาย ผมเรียนจบปริญญาตรีมาเก้าปีแล้ว เคยแต่ไปพูดให้นักศึกษาเข้าใหม่ในวันปฐมนิเทศน์ แต่ไม่เคยมีโอกาสอะไรกับนักศึกษาจบใหม่ในเรื่องแบบนี้เลย เมื่อเทียบประสบการณ์กับอีกสามท่านที่เหลือก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเหมาะจะมานั่งอยู่ตรงนั้นเท่าไหร่ แต่พอได้คุยไปก็รู้สึกสนุกและไหลลื่นไปเรื่อยจนเกินเวลาที่กำหนดไปเยอะ คิดว่าที่คุยกันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ จึงขอนำมาบันทึกไว้คร่าวๆ เท่าที่จำได้ ตรงนี้ (ขออภัยที่ไม่ได้แยกแยะว่าข้อไหนใครเป็นคนพูด เพราะแต่ละคนช่วยกันเสริมต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ)

  • การทำงานจริงต่างกับตอนเรียนเพราะความรับผิดชอบไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวเองอีกแล้ว เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่คนอื่นมอบหมาย รับผิดชอบความคาดหวังของผู้ว่าจ้าง ความกดดันต่างๆจึงเพิ่มขึ้นหมาศาล
  • เวลาเริ่มทำงานต้องพยายามมองให้เห็นปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งบางทีลูกค้าอาจจะไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไร เราต้องเข้าไปเรียนรู้และเค้นออกมาให้ได้
  • ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเสนอสิ่งที่ดีกว่าที่ลูกค้าขอมาตอนแรก เพราะถ้าผลออกมาดี ก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
  • พยายามอย่าให้ลูกค้ามองว่าการทำงานกับเราเป็นการรับจ้างทำของ แต่ให้เห็นอาชีพนักออกแบบเป็นที่ปรึกษา
  • ไม่ควรเริ่มทำงานโดยมีรูปแบบผลงานที่คิดไว้ หรือสไตล์ที่ต้องการทำเป็นที่ตั้ง เพราะนั่นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด
  • portfolio สำคัญกว่าเกรด งานสายนี้ไม่มีใครดูเกรดประกอบการตัดสินใจรับคน
  • ควรทำ portfolio ที่จับต้องได้ ไม่ค่อยมีใครชอบนั่งดูงานจากบนหน้าจอ โดยเฉพาะที่ส่งเป็น CD ไป มีโอกาสที่จะไม่ถูกเปิดดูสูงมาก
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรเตรียม portfolio ไว้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ สำหรับงานแต่ละประเภท
  • อย่างก หรือประหยัดงบในการจัดทำ portfolio เพราะมันเป็น passport ที่จะนำคุณไปในที่ที่ไม่เคยไป เหมือนที่เวลาจะเดินทางไปเมืองนอกเราต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ visa
  • เวลาไปสมัครงานต้องนำเสนอตัวเองให้ดีที่สุด สร้างความประทับใจแรกพบให้ดีที่สุด
  • คอยดูแลเว็บส่วนตัวอย่าง Hi5, Facebook, Myspace, Multiply ของตนให้ดูดีอยู่เสมอ เพราะอาจถูกว่าที่นายจ้างที่ช่างขุดคุ้ยบางคนแอบดูตัวตนที่คุณภูมิใจนำเสนอโดยไม่เสแสร้งอยู่ก็ได้
  • ไม่ควรรีบร้อนไปเรียนต่อทันที่หลังจากเรียนจบ เพราะคุณยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และต้องการทักษะด้านไหนมาเสริมตัวเองให้สมบูรณ์ขึ้น
  • ไม่ควรรีบร้อนเปิดบริษัทของตัวเองทันทีที่เรียนจบ เพราะโอกาสล้มเหลวมีสูงมาก การเอาตัวรอดในเส้นทางนี้ต้องการทักษะหลายอย่างที่สถานศึกษาไม่ได้สอน เช่น การโน้มน้าวใจ การบริหารคน การดูแลเรื่องเงินทอง เป็นต้น
  • เลือกทำงานที่แรกกับบริษัทที่ดี ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นบริษัทใหญ่ แต่ต้องเป็นที่ที่มีผลงานดี มีคนเก่งๆ มีเรื่องให้เราได้เรียนรู้
  • ที่ทำงานที่แรก และเจ้านายคนแรก มีผลต่ออนาคตการทำงานของคุณมาก
  • วางแผนชีวิตห้าปีของตัวเองไว้เสมอ แม้จะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แต่อย่าดำเนินชีวิตไปโดยไม่มีแผน
  • ไม่ต้องวิตกถ้าตัวเองยังไม่มีความฝัน หรือยังไม่มีวี่แววจะไปถึงความฝัน เพราะตอนพวกพี่ๆเพิ่งจบ แต่ละคนก็มองไม่เห็นอนาคตตัวเองเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็จงมีแผน
  • ทำงานทุกชิ้นให้ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าติดใจ และจะได้มีงานชิ้นต่อๆไปจากลูกค้ารายเดิม
  • ในการขายงาน ต้องพยายามทำตัวเป็นคนพากย์มวยที่เก่ง เรื่องเดิมๆ ก็ต้องพูดให้น่าตื่นเต้นได้
  • หากไม่สามารถไปพรีเซนต์งานได้ อย่าส่งงานไปทางอีเมล์เฉยๆ โดยไม่มีการอธิบาย เมล์เสร็จแล้วโทร.ไปชี้แจง
  • เวลาลูกค้าพูดแรงๆ ไม่ชอบงานโดยไม่สามารถอธิบายเหตุผล อย่าจิตตก ลูกค้าไม่ใช่อาจารย์จึงไม่สามารถแจกแจงข้อบกพร่องของงานเราได้ ต้องถอยออกมาห่างๆ แล้วค่อยๆทำความเข้าใจ
  • ถ้ารู้พื้นเพของลูกค้า ก็ควรเสนองานโดยแสดงความเข้าใจพื้นเพของเขา เช่น ลูกค้าเป็นสถาปนิก ก็ไปค้นคว้าเรื่องสถาปัตยกรรมมาให้สามารถคุยได้ระดับหนึ่ง
  • พยายามขีดเส้นแบ่งขอบเขตของเรากับคุณลูกค้าไว้ เพราะมีคุณลูกค้าหลายคนคิดว่าสามารถทำงานที่เราทำให้เขาได้เอง ดังนั้นอย่าให้เขามาก้าวก่ายหน้าที่ของเรามาก เดี๋ยวจะยุ่ง
  • หนึ่งในวิธีการทำเช่นนั้นคือการใช้ศัพท์ทางวิชาการออกแบบมาอธิบายงาน เพื่อแสดงว่านี่เป็นเรื่องของความชำนาญเฉพาะทาง
  • อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายเรื่องที่เราต้องเรียนรู้จากคุณลูกค้า ต้องหาจุดสมดุลให้ดี
  • ลูกค้าที่น่ากลัวที่สุด คือลูกค้าที่รู้อะไรแบบงูๆ ปลาๆ แต่วางฟอร์มเหมือนรู้อะไรเยอะ พวกนี้จะเดาใจยากมาก
  • ทำงานให้ตัวเองให้ดีแล้วอย่าลืมนึกถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย อาชีพนี้สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของทุนนิยมเพื่อชี้นำคนไปในทางไม่ถูกไม่ควรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม, ความฟุ่มเฟือย, การเผยแพร่แนวคิดที่ผิด ฯลฯ

จริงๆมีเยอะกว่านี้อีกมาก แต่จำได้เท่านี้ ใครที่อยู่ในเหตุการณ์ อ่านแล้วนึกอะไรออก ช่วยมาเขียนต่อด้วยจะเป็นพระคุณอย่างสูง

7 Responses to “พี่สอนน้องสร้างภาพ”

  1. สุดยอด เป็นประโยชน์มากครับ

  2. This is very helpful I’ll tell other about this link.
    khob khun krub.

  3. Wish I could be there that day
    ^^ Thank you ka A.

  4. เทียบกับวันที่นั่งฟังในแล้ว ค่อนข้างละเอียดมากค่ะ
    ถ้าหากนึกได้อีก แล้วจะมาเขียนต่อนะคะ
    ขอบคุณมากค่ะ เป็นประโยชน์อย่างมากที่สุด

  5. ตอนแรกที่คิดจะเขียนก็นึกออกแค่ไม่กี่ข้อหรอกครับ แต่นั่งเขียนไปก็นึกออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนออกมาได้มากข้ออย่างที่เห็น 😀

  6. ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ได้เอาข้อความเหล่านี้มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน : D

  7. Paveena Says:

    July 12th, 2009 at 01:42

    เป็นประโยชน์มากๆค่ะ
    ขอบคุณที่ช่วยสละเวลามาเป็นวิทยากรให้นะค่ะ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.