ขนาดตัวอักษรที่เหมาะสมของแต่ละภาษา

impact-lnt-duo-450x2991.jpg

ไม่นานนี้ได้ทำงานออกแบบหนังสือชุดหนึ่งให้ UNESCO กรุงเทพฯ และหนังสือเล่มหนึ่งในชุดนั้นได้ถูกแปลเป็นภาษาลาว ผลคือหนังสือทั้งเล่มถูกขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ด้วยเหตุผลว่า “ทางดีไซเนอร์ฝั่งลาวเห็นว่า ตัวอักษรภาษาลาวไม่ควรมีขนาดเล็ก เพราะจะอ่านยาก” และเพื่อให้คงการจัดหน้าแบบเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เรื่องนี้ชวนให้กลับมาคิดต่อว่า “แล้วแนวคิดนี้ถูกต้องสำหรับภาษาไทยหรือไม่?” จึงขอบันทึกข้อสังเกตและความเห็นส่วนตัวต่อกรณีนี้ไว้ตรงนี้

นี่เป็นภาพเปรียบเทียบหน้าต่างๆ จากหนังสือทั้งสองเล่มที่มีการจัดหน้าเหมือนกันเกือบทั้งหมด สังเกตภาพที่ 3 ที่แม้แต่ในฉบับภาษาอังกฤษยังต้องย่อขนาดตัวอักษรลงจนเล็กกว่าปกติ ถ้าให้ภาษาลาวตัวเล็กเท่านี้คงลำบาก

DSC_2324DSC_2327DSC_2331DSC_2328

ใครเคยได้เห็นตัวอักษรภาษาลาวและภาษาเขมรมาบ้างจะทราบว่า ทัั้งสามภาษาคือไทย-ลาว-เขมร ล้วนมีที่มาจากภาษาขอม จึงไม่แปลกที่จะมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งการอ่าน การเขียน คำศัพท์ และรูปร่างของตัวอักษร ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาษาไทยก็ควรจะถูกพิมพ์ด้วยขนาดตัวอักษรที่ใหญ่กว่าภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน?

เริ่มแตกประเด็นกันดีกว่า

“ฟอนต์ไทยตัวเล็กกว่าฟอนต์อังกฤษ” เป็นคำพูดเหมารวมจนเป็นความเชื่อสาธารณะที่หลายคนคงเคยได้ยิน

โดยสามัญสำนึกของคนไทยที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับตัวอักษร เรารู้ว่าค่าปริยาย (default) ของฟอนต์ภาษาอังกฤษอยู่ที่ 12 point (pt) แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ฟอนต์ภาษาไทย เราพบว่าในขนาดเป็นพอยนท์ (point size) ที่เท่ากัน คำภาษาอังกฤษคำเดียวกัน ตัวอักษรโรมันจะออกมามีขนาดทางกายภาพเล็กกว่า ทั้งนี้เกิดจากความแตกต่างในเรื่องการวัดขนาดตัวอักษร ซึ่งภาษาไทยจะต้องวัดความสูงจากเส้นกรอบบน (ขอบเขตสูงสุดของชั้นวรรณยุกต์บน) จนถึงเส้นกรอบล่าง (ขอบเขตต่ำสุดของชั้นสระล่าง) ในขณะที่ตัวโรมันวัดจาก ascent line (ขอบเขตสูงสุดของตัวพิมพ์ใหญ่) ถึง descent line (ขอบเขตต่ำสุดของ descender) ดังนั้น ในหน่วยวัดที่เท่ากัน (เช่น 12 pt เท่ากัน) ตัวอักษรไทยย่อมเล็กกว่าตัวโรมัน เพราะต้องมีพื้นที่ให้ใส่สระบน, สระล่าง และวรรณยุกต์ รวมอยู่ด้วย

boongkee1.png

tomorrow-450x3091.png

ภาพประกอบทั้งสองภาพด้านบน มาจากหนังสือ ในหนังสือ “แบบตัวพิมพ์ไทย” จัดทำโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สังเกตว่า ทั้งสองภาพใช้คำศัพท์เรียกเส้นระยะต่างๆ ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ค่าปริยายที่ 12 pt จึงดูเล็กเกินไปสำหรับหลายคน ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เริ่มพิมพ์เอกสาร หลังจากเลือกฟอนต์ยอดนิยมแห่งชาติ เช่น Angsana แล้ว ต้องเพิ่มขนาดเป็น 14 pt (หรือขนาดอื่น) ไปโดยอัตโนมัติ

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า “เห็นไหมล่ะ ฟอนต์ไทยต้องใช้ตัวใหญ่กว่าฟอนต์อังกฤษ เพิ่มขนาดไป 2 pt แน่ะ” ใช่ไหม? – อย่าเพิ่งด่วนสรุป ลองมาพิจารณาขนาดทางกายภาพกันบ้าง

จากหนังสือเล่มเดิม มีการเสนอแนะแนวทางของการกำหนดขนาดตัวโรมันในฟอนต์ไทยไว้ดังภาพ จะเห็นว่า เมื่อต้องการใช้ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษร่วมกัน สัดส่วนของตัวโรมันที่ตำราเล่มนี้แนะนำคือ พยัญชนะไทยจะมีความสูงอยู่ระหว่างตัวพิมพ์ใหญ่กับตัวพิมพ์เล็กของโรมัน ซึ่งเชื่อว่า “สัดส่วนที่แนะนำ” และมีตัวเลขกำกับชัดเจนนี้เกิดจากการสะสมประสบการณ์และลองผิดลองถูกมาพอสมควร ก่อนจะได้ข้อสรุปดังนี้

boobeeheg-450x1961.png

โดยส่วนตัวเชื่อว่าสัดส่วนที่แนะนำนี้ไม่น่าจะนำมายึดถือได้เป็นสูตรสำเร็จตายตัวชนิดที่วัดเป็นหน่วยได้ เพราะแบบตัวพิมพ์โรมันแต่ละชุดยังมีสัดส่วน x-height กับ capital height ที่ไม่เท่ากันเลย แต่พอจะใช้เป็นหลักเกณฑ์คร่าวๆ ได้เหมือนกันว่าภาษาไทยตัวใหญ่กว่า

ถ้ามองในแง่ที่ว่า เพราะลักษณะรูปร่างของตัวอักษรไทยและลาวที่มีความซับซ้อนกว่าตัวพิมพ์โรมัน ทำให้ต้องใช้ขนาดที่ใหญ่กว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการอ่านก็สมเหตุสมผล (เชื่อว่าสำคัญกว่าการหลีกเลี่ยง “หัวตัน” จากการพิมพ์) สำหรับงานที่จบบนหน้าจอก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ว่าการแยกแยะพยัญชนะคู่สับสน เช่น “ช” กับ “ซ” หรือ “ฏ” กับ “ฎ” ด้วยสายตา ที่ขนาดการใช้งานจริงนั้นยากจริงๆ จนต้องอาศัยความเคยชินในการจดจำตัวอักษรอื่นที่ห้อมล้อมและการจดจำคำมาช่วยแยกแยะ

ถ้าไม่เชื่อลองกลับไปอ่านย่อหน้าที่แล้วอีกทีนะครับ คู่สับสนที่ยกตัวอย่างไปเมื่อกี๊ ผมเขียน ฏ ปฏัก มาก่อน ฎ ชฎา 🙂

ในยุคที่นักนิตยสารไทยยังนิยมใช้ชื่อคอลัมน์เป็นภาษาอังกฤษทั้งที่ไม่มีฝรั่งมาอ่าน และนักออกแบบไทยยังนิยมดูตัวอย่างงานจากต่างชาติเช่นนี้ คงมีหลายครั้งที่เราไปเห็นการจัดตัวพิมพ์แบบสวยๆ แล้วอยากเอามาใช้บ้าง แต่พอใช้วิธีเดียวกันกับภาษาไทยแล้วดูไม่ลงตัวเท่าที่ควร แทนที่เราจะบ่นว่า “ภาษาไทยใช้ยาก” หรือ “ใช้ภาษาไทยจัด text เป็นก้อนแล้วไม่สวยเพราะติดสระกับวรรณยุกต์” หรือ “กลัวสระลอย” (ทั้งที่จริงๆ เป็นวรรณยุกต์ที่ลอย) เราน่าจะลองสำรวจถึงธรรมชาติของรูปอักษรในภาษาของเรา แล้วหาทางใช้มันเป็นองค์ประกอบในการออกแบบอย่างเหมาะสม เริ่มตั้งแต่เรื่องขนาดก็ได้ครับ หลังจากนั้นเรื่องอื่นๆ ก็น่าจะตามมาเอง

2 Responses to “ขนาดตัวอักษรที่เหมาะสมของแต่ละภาษา”

  1. สรุปแล้วต้องมององค์ประกอบโดยรวมใช่ป่าวครับ ส่วนวิธีง่ายสุดของเรา เวลาทำในคอม ก็จะปรินท์มาดู ว่าอ่านง่ายไหม เล็กหรือใหญ่ไปหรือเปล่า แล้วก็เอามาเทียบกับคนอื่น ส่วนเรื่องนักออกแบบไทยชอบใช้ head เป็นอังกฤษ นี่เราก็เห็นด้วยนะ เพราะก็ทำอยู่บ่อยๆ มันดูเท่ดี ตัวอักษรมันสม่ำเสมอกัน ถ้ามองในแง่การสื่อความหมาย คงอีกเรื่องนึง 🙂

  2. link2idea Says:

    July 23rd, 2009 at 15:20

    ผมว่า headเป็นภาษาอังกฤษนี้คิดน้อยดีนะครับ เราเห็นตัวอย่างของงานนอกเค้าทำมาก็เยอะ(หรือheadหนังสือไทยเป็นอังกฤษอีก) อีกอย่างแล้วรูปแบบตัวภาษาเรียบร้อยดูเป็นแนวๆไม่ทิ้งหรือห้อยหรือลอยให้เห็น ซึ่งผมก็ชอบใช้เพราะแบบนี

    ส่วนภาษาไทยจัดกว่าจะได้ เนี่ยโยกย้ายปรับอยุ่นานพอควรเลยแหละถ้าเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ แล้วไหนจะสี สื่ออีก

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.