The Long Play Collection

surasee-kalpawasan

น่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ ที่เดินตามร้านเทป (ยังคงพูดได้สะดวกปากกว่า “ร้าน CD”) แล้วเห็น CD อัลบั้มเก่าๆ ของค่ายแกรมมี่ในกล่องที่มีหุ้มกระดาษอีกชั้น แล้วจั่วหัวว่า The Long Play Collection ทำให้มีโอกาสได้ซื้อเพลงที่เคยมีความหมายกับชีวิตตัวเองในช่วงวัยรุ่นมาฟังและเก็บไว้อีกครั้ง เพราะส่วนใหญ่สมัยนั้นจะซื้อเทป ครั้นจะหาทางแปลงเป็นดิจิทัลก็รู้สึกต้องใช้ความพยายามมากไปหน่อย
อัลบั้มแรกในกลุ่มนี้ที่ได้ซื้อมาคือผลงานของศิลปินไทยที่ผมชอบที่สุดคนหนึ่ง สุรสีห์ อิทธิกุล ชุด “กัลปาวสาน”เมื่อถอดปลอกกระดาษชั้นแรกออก ก็จะพบกล่อง CD พลาสติกใสแบบปกติ พลิกหน้าพลิกหลังดูจนถ้วนทั่ว ไม่พบข้อความว่า digital remastered ที่เห็นเป็นประจำในการเอาเพลงเก่ามาขายใหม่ แต่ช่างมันเถอะ ยังไงเสียงดีกว่าเทปที่เคยฟังเมื่อหลายปีก่อนโน้นแน่ๆ ตัวแผ่น CD จะถูกออกแบบให้มีหน้าตาเหมือนแผ่นเสียง (vinyl record / long play) ดูสอดคล้องกับชื่อคอลเลคชั่น ประมาณว่า “เก่า” น่ารักน่าชัง แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

suraseedisc
ถ้ามองในแง่คุณค่าทางจิตใจ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดีที่แกรมมี่ทำอะไรอย่างนี้ เพราะปัญหาอย่างหนึ่งในการฟังเพลงไทยคือ “หาซื้ออัลบั้มเก่าๆ ยากมาก” ลองคิดตามง่ายๆ ว่าถ้าอยากฟังอัลบั้มเก่าๆ ของศิลปินต่างประเทศ เช่น Beatles คุณสามารถออกไปซื้อแผ่นได้ง่ายกว่าตามหาอัลบั้มแรกของพี่เบิร์ด หรือใหม่ เจริญปุระ เรื่องนี้มีคนพูดกันมามากแล้วตั้งแต่สมัย “ประเทือง” เริ่มบูม เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอย่างผม และตัดสินใจซื้อ CD เหล่านี้ด้วยความรู้สึกโหยหาอดีต และคงเฝ้าหวังไว้ในใจว่าอยากให้มีอัลบั้มไหนออกมาอีกในรูปแบบนี้อีกมากๆ

ถ้ามองในแง่ธุรกิจ นี่น่าจะเป็นความพยายามครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของแกรมมี่ – เป็นที่รู้กันว่าการออกอัลบั้มรวมฮิตเป็นการหากำไรที่ลงทุนต่ำและหวังผลได้ค่อนข้างแน่นอน เมื่อก่อนเบเกอรี่ก็เคยใช้วิธีออกสารพัดรวมฮิต (และไม่ฮิต) ในช่วงที่บริษัทมีปัญหาจนแฟนๆ แอบเอือมระอา และในยุคสมัยที่คนไม่ยอมซื้อ CD นี้ แกรมมี่กำลังขุดเอาความสำเร็จในอดีตตลอด 25 ปีของตัวเองออกมาแบบแทบจะหมดไส้หมดพุง

เท่าที่เห็น อัลบั้มที่แกรมมี่คัดเลือกมาขายใหม่ในครั้งนี้ล้วนเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จทางยอดขายอย่างสูงในอดีต บางชุดเป็นงานดนตรีคุณภาพ บางชุดเป็นงานแจ้งเกิดของศิลปินคนสำคัญของค่าย หรือแม้แต่ one hit wonder แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพลงของนักร้องที่วัยรุ่นยุคนี้ “ไม่อิน” กันแล้วทั้งนั้น

ผมเคยคุยกับป้าโดเรมี (ใช่ครับ ป้าร้านเทปในตำนานแห่งสยามที่นั้นแหละ) เรื่องความสำเร็จถล่มทลายของ The Eagles ที่กลับมารวมตัวกันในชุด Hell Freezes Over ได้ความประมาณว่า “คนทั่วไป เมื่อถึงอายุหนึ่ง เขาก็ไม่ฟังเพลงใหม่ๆ กันแล้ว ทีนี้พอมีของเก่าที่เขาเคยชอบ กลับมาขายใหม่ ตอนที่คนกลุ่มนั้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีตังค์แล้ว ทำอะไรออกมาก็ซื้อหมด ทั้ง CD, DVD แล้วก็ตามไปดูคอนเสิร์ต”

กลยุทธของ The Long Play Collection ก็มาในวิธีเดียวกันนี้เอง ก็เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ไม่ซื้อ CD กันแล้ว การขายเพลงแบบดิจิทัลอย่างถูกกฏหมายก็ยังไม่บูม จะหาเงินจากการขายแผ่นก็ต้องเล่นวิธีนี้แหละ เท่าที่เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นศิลปินนักร้องเรื่องส่วนแบ่งจากยอดขาย CD เทียบกับยอดดาวน์โหลดริงโทนและเสียงรอสายแล้วใจหาย แผ่นขายแทบจะไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ส่วนแบ่งที่ได้ยิ่งน้อยจนน่าตกใจใหญ่… ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเดี๋ยวนี้ซื้อ CD แล้วมีใบแทรกให้รายละเอียดการโหลดทุกสิ่งอย่าง นั่นสิ… ผู้ใหญ่ก็ไม่นิยมโหลดริงโทนและเสียงรอสายมากเท่าเด็กๆ เสียด้วย

ก็หวังว่าความพยายามครั้งนี้ของแกรมมี่จะประสบความสำเร็จ เพราะมิตรรักแฟนเพลงทั้งหลายจะได้ตามเก็บอัลบั้มที่มีความหมายในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ง่ายๆ ซะที อย่างน้อยผมก็ซื้อมาสามชุดแล้ว และยังรออีกหลายๆ อัลบั้มให้ออกตามมา
อ้อ… แอบนึกขัดใจอยู่นิดหน่อยกับการพยายามทำแผ่น CD ให้ดูเป็น vinyl – มันออกจะดัดจริตและพยายามไปนิดนึง… เพลงที่เอามาขายซ้ำนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพลงจากยุค vinyl ซะหน่อย เป็นยุคของเทปต่างหาก!

หมายเหตุ

  1. ผมไม่ได้เกิดทันฟังสุรสีห์ชุดแรกนี้ตอนเป็นวัยรุ่น แต่เริ่มฟังผลงานของเขาอย่างจริงจังตอนม.ต้น ในชุด “พอดี พอดี” แล้วจึงตามไปย้อนซื้อชุดเก่าๆ
  2. ที่เขียนหมายเหตุข้อที่แล้วเพราะกลัวโดนเช็คอายุแล้วออกมาแก่เกินจริง 😛

4 Responses to “The Long Play Collection”

  1. เห็นซีดี Long Play Collection มาพักใหญ่ แต่ยังไม่มีอัลบั้มไหนถูกใจวัยรุ่นอย่างผมก็เลยยังมิได้เสียเงินซื้อสักที..ฮา

  2. หา Butterfly ชุด action มานานแล้วครับไม่รู้จะรวมอยู่ใน series นี้รึเปล่า

  3. จำไม่ได้จริงๆ ว่า Butterfly อยู่กับแกรมมีหรือเปล่า แต่ชุด Action! ผมมี CD เก็บไว้แล้ว 😀

  4. Action ผมมีแต่เทปซึ่งหมดสภาพไปแล้ว ถ้ารู้ว่ามี CD เดี๋ยวออกล่าน่าจะไม่พลาด

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.